นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายว่าในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ถึงต้นเดือน ก.ค.2564 ปริมาณฝนจะลดลง ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆอยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ดังนั้น กรมชลประทานได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ให้ชะลอการปลูกข้าวนาปี 2564 เพื่อรอฝนตกสม่ำเสมอ และมีปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอ พร้อมทั้งให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำปัจจุบัน วันที่ 1 ก.ค.2564 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 34,073 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นน้ำใช้การได้ 10,144 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาคงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก เหลือเพียง 986 ล้าน ลบ.ม .โดยหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตน้ำประปา รวมถึงสถานการณ์น้ำเค็ม รุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลสูงถึง 1.22 กรัมต่อลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานในการผลิตน้ำประปา ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล.