กระทรวงสาธารณสุข เร่งสอบสวน-ค้นหาผู้สัมผัสโรคในแคมป์คนงานหลักสี่ หลังพบ "โควิดสายพันธุ์อินเดีย" โดยทั้งหมดมีอาการป่วยเล็กน้อย กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่เขตหลักสี่ พบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย ว่า ธรรมชาติเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา โดยสายพันธุ์ที่ให้ความสนใจคือ กลายพันธุ์แล้วแพร่ระบาดง่ายขึ้น ก่อโรครุนแรงหรือเสียชีวิตมากขึ้น และส่งผลให้วัคซีนป้องกันโรคไม่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้การระบาดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ มีสายพันธุ์จี และสายพันธุ์ดั้งเดิมเล็กน้อย

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยต่างๆ ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ โดยจากการตรวจ 61 ตัวอย่าง พบ 15 ตัวอย่างตรงกับสายพันธุ์อินเดีย เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี เป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ผู้สัมผัสร่วมบ้าน 3 คน ทั้งหมดมีอาการเล็กน้อย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้เป็นแรงงานผิดกฎหมายแต่อย่างใด

สำหรับสายพันธุ์อินเดีย มีการระบาดมากในหลายประเทศ ทั้งอินเดีย, อังกฤษ, มาเลเซีย รวมทั้งเคยพบในสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ส่วนเมียนมาและกัมพูชาการตรวจสายพันธุ์ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด เชื่อว่าอาจมีสายพันธุ์อินเดีย ดังนั้นประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะพบสายพันธุ์อินเดียหลุดเข้ามา โดยมาจากทางไหนต้องอาศัยการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสทั้งตัวที่พบในไทยเปรียบเทียบกับเชื้อของประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกับใช้หลักระบาดวิทยาในการสอบสวนโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอข้อมูลทั้งสองส่วนประกอบกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขประเทศอังกฤษพบว่า การแพร่เชื้อ ความรุนแรงของสายพันธุ์อินเดียไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ไม่ส่งผลต่อผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา เนื่องจากอังกฤษมีการระบาดของทั้งสองสายพันธุ์ เมื่อฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาได้ครอบคลุมจำนวนมากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

...

ส่วนมาตรการควบคุมโรคสายพันธุ์อินเดีย ไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษหรือสายพันธุ์อื่นๆ คือ มาตรการป้องกันส่วนบุคคล ทั้งสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ มาตรการด้านสาธารณสุข เมื่อพบผู้ป่วยต้องแยกกัก นำเข้าสู่การรักษาโดยใช้เวลารักษา 14 วันเหมือนกัน ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง นำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำเข้าสู่การตรวจ และมาตรการทางสังคม มีการควบคุมการเข้าออก เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด.