ภาพลักษณ์ขององค์กรมักสะท้อนตัวตนความเป็นผู้นำตำรวจหลายคนอาจไม่ได้ถูกสอนมาเป็น นักประชาสัมพันธ์ แต่จำเป็นต้อง “ผูกสัมพันธ์” ประสานงานกับสื่อมวลชน ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ IO (Information Operation) ถึงมีความสำคัญ

ไม่ใช่ “ประสานงา” พาให้เกิดความขัดแย้งส่งผลกระทบถึง “ภาพลบ” ในตัว “ผู้นำ” ลุกลามยันภาพรวมของทั้งกองทัพ

ย้อนไปสมัย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็น ผบ.ตร.เลือกหยิบเอา พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ นั่งเก้าอี้ ผบก.สท. คุมงาน กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เพราะมั่นใจในความสามารถของนายตำรวจรุ่นน้องโรงเรียนทวีธาภิเษก

แม้ชีวิตรับราชการในขณะนั้นผ่านประสบการณ์ด้านสืบสวนปราบปรามเป็นส่วนใหญ่ ถึงจะเริ่มต้นลูกแถวแผนก 6 กก.5 บก.ดพ. ทว่าขยับไต่เต้าขึ้นชั้นสัญญาบัตร มีโอกาสทำงานในกองปราบปรามตำแหน่งรอง สว.ผ.3 กก.2 บก.ป.

เป็น สว.กอ.รมน.ทำหน้าที่นายตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ปักหลักทำงานสืบสวนขึ้นรอง ผกก. กระทั่งได้รับความไว้วางใจจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผบ.ตร. ให้ไปเป็น ผกก.สส.บก.น.5 คุมพื้นที่ใจกลางกรุง

สร้างผลงานพิชิตคดีสำคัญ “จับเป็น-จับตาย” โจรผู้ร้ายมากมาย

ฝีไม้ลายมือที่เกิดขึ้นจาก “โบแดง” กลางเมืองหลวง ดันขึ้นรอง ผบก.น.5 เจอมรสุมชีวิตฝ่าวิกฤติผ่านพ้นด้วยความเป็นตัวตนคนจริง กลับมาพิสูจน์ตัวเองในบท ผบก.สท.

ประสบความสำเร็จเลื่องชื่อจนสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทยให้ฉายา “พีอาร์หลังม่าน” อยู่เบื้องหลังการประชาสัมพันธ์หลายโครงการขององค์กรตำรวจ

ประกวดภาพลักษณ์กลับมาเป็น “บวก” ต่อสายตาชาวบ้าน.

...

สหบาท