ค่ารักษาโรค “โควิด-19” โรงพยาบาลเอกชนเป็นอีกหนึ่งตัวแปรความกังวลสับสนสำคัญในวันนี้ ด้วยว่าหลายๆคนก็คิด ถ้าหากตัวเราติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาจะต้องควักจ่ายกระเป๋าฉีก?

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา...“กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” ออกมาให้ข้อมูลชี้แจงตอกย้ำ

“หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่ารักษาโรคโควิด-19 ของโรงพยาบาลเอกชน” ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ครม.มีมติเห็นชอบ ทั้ง 3 ฉบับ

หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ในส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมเป็นสิทธิของ “ผู้ป่วย” และ “ญาติ” ที่จะเลือกรับบริการโดยชำระค่าใช้จ่ายเอง

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้...“โรคโควิด-19” เป็นโรคฉุกเฉิน...“โรคติดต่ออันตราย” ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นภาวะฉุกเฉินที่ทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการรักษาพยาบาล และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้นำเสนอคณะกรรมการสถานพยาบาลให้ประกาศเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน

ทำให้สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ต้องรักษาผู้ป่วย

...

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ย้ำว่า หลังจากประกาศแล้วคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบประกาศเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดูแล โดยประกาศมาแล้ว 3 ฉบับ

เช่น ฉบับแรก...ว่าด้วยเรื่องค่ายา ค่าห้อง ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าบุคลากรต่างๆ ครอบคลุมความจำเป็นในการดูแล

ต่อมา ฉบับที่ 2...เพิ่มเติมรายการยาที่ยังไม่ครอบคลุมและ ฉบับที่ 3...ก็เพิ่มค่ารถรับส่ง ค่าทำความสะอาดรถ และค่าใช้จ่ายกรณีฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงจนต้องรักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น

จากประกาศต่างๆ มีสาระสำคัญคือสถานพยาบาลต้องให้การรักษาผู้ป่วยโดยทันทีตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องเรียกเก็บกับ สปสช. ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ค่าอาหาร ค่ายา ค่ายานพาหนะรับส่ง

ดังนั้น เมื่อไปรักษาในโรงพยาบาล ก็เป็นหน้าที่ของสถานพยาบาลในการทำ 2 เรื่อง คือ ให้การดูแลให้ปลอดภัย และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ตามบัญชีและอัตราแนบท้ายประกาศ

อีกประเด็นสำคัญ...หากสถานพยาบาลไม่ดำเนินการก็จะมีโทษตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการมา มีสถานพยาบาลฝ่าฝืนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยจำนวน 44 เรื่อง รวม 74 ราย และได้ดำเนินการไปตามกฎหมายแล้ว

รวมทั้ง “สถานพยาบาล” ก็ได้ “คืนเงิน” แก่ผู้ป่วยทั้ง 74 ราย

ถึงตรงนี้...หากประชาชนมีข้อสงสัยเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” หรือ “ถูกเรียกเก็บ” สามารถติดต่อที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1426 ท่านจะได้ไม่มีความกังวลในการไปรับการรักษา

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แจกแจงอีกว่า การดูแลประชาชนด้านการรักษาพยาบาลและการตรวจโควิด-19 นั้น ขอให้มั่นใจว่า...รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“โรงพยาบาลห้ามเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยในทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงสัยว่าติดเชื้อและกรณีที่ติดเชื้อแล้ว และไม่มีคำว่าเรียกเก็บส่วนที่เกินจากที่รัฐบาลจ่ายให้ เพราะรัฐบาลจ่ายให้ครอบคลุมในทุกกรณีแล้ว”

ในส่วนของการตรวจโควิด-19 โรงพยาบาลจะเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “บัตรทอง” ทั้งหมดแต่ในส่วนการรักษาพยาบาลหลังตรวจพบเชื้อจะเบิกจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มี

เช่น สิทธิประกันสังคมเบิกจ่ายกับสำนักงานประกันสังคม สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง และสิทธิบัตรทองเบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

...

ที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนทางโซเชียลมีเดีย กรณีประชาชนบอกว่าถูกเรียกเก็บเงิน หรือต้องจ่ายเงินเอง ข้อเท็จจริงมีว่า...หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน

ซึ่งในกรณีของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ทาง สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยโดยเด็ดขาด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน

ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตาม “ระบบ UCEP” หรือ “รักษาฉุกเฉินเร่งด่วน” โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล ท่านได้รับค่ารักษาแน่นอน

ที่ผ่านมามีค่ารักษาผู้ป่วยโควิดกรณีวิกฤติรายหนึ่ง เป็นเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรณีวิกฤติหรือสีแดง สปสช.รายงานว่าได้เบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปแล้ว

“บางรายวิกฤติแปดแสนบาท ก็จ่ายแล้วเช่นกัน หรือกรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองอาการไม่รุนแรงที่โรงพยาบาลส่งเบิกเข้ามาตามหลักเกณฑ์ มีหนึ่งรายที่มีค่ารักษาประมาณสี่แสนบาท สปสช.ก็เบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปแล้วเช่นกัน”

...

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสริมว่า สปสช.มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณแก่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวกับโควิด-19

ขอยืนยันว่าคนไทยทุกคนทุกสิทธิ หากจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือแพทย์มีดุลพินิจให้ตรวจ สามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และ...ถ้าติดเชื้อก็มีสิทธิได้รับการรักษาฟรีไม่ว่าจะเข้าโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน

“ส่วนค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลจะมาเรียกเก็บเอาจาก สปสช.ตามอัตราที่ประกาศกำหนด ซึ่งเป็นอัตราที่มีการตกลงกันกับทุกหน่วยบริการและผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว”

ดังนั้น ขอยืนยันว่าถ้าเป็น “กลุ่มที่เสี่ยง” ที่ต้องได้รับการคัดกรอง สามารถตรวจฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย และ...ถ้าผลตรวจพบว่า “ติดเชื้อ” โรงพยาบาลจะให้การดูแลตามความรุนแรงของอาการ โดย “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” ไม่ว่าจะเป็นของ “รัฐ” หรือ “เอกชน”

งบประมาณต่างๆ สปสช. และกองทุนสุขภาพอื่นๆได้เตรียมไว้หมดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆจากประชาชน

ประชาชนท่านใดที่ถูกเรียกเก็บเงินให้โทร.มาร้องทุกข์ได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องดำเนินการต่อให้ตามกฎหมาย.