ท่ามกลางสถานการณ์ “ประเทศไทย” กำลังเผชิญการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 กระจายออกไป “ครบทุกจังหวัด” อย่างหนักหน่วงกว่าที่เคยเจอมา “ผู้ติดเชื้อครอบคลุมทุกเพศทุกวัย” สูงขึ้นทวีคูณ
สาเหตุเป็นเช่นนี้เชื่อว่า “เป็นการระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ” สามารถกระจายได้เร็วมากยิ่งกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทั้งใน “เขตเมือง” ก็คงเคลื่อนย้ายออกจากบ้านตะลอนท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ไปมาหาสู่ทำธุระปะปังเสมือนปกติอยู่มากมายอันเกิดจาก “มาตรการผ่อนปรน” ให้ประชาชนใช้ชีวิตสะดวกยิ่งขึ้น
แต่ไม่อาจ “กำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเคร่งครัดเพียงพอ” ทั้งควบคุมผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงไม่ได้ จนเข้าปะปนสัมผัส “กลุ่มเสี่ยงต่ำ” กว่าจะรู้ตัวติดเชื้อก็ลุกลามออกไปเป็นวงกว้างมากแล้ว กลายเป็น “ติดเชื้อจากการใช้ชีวิตประจำวัน” นำเชื้อโรคเข้าสู่ “คนในครอบครัว” ทำให้มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงหลักพันคนต่อวัน
เหตุนี้ “โรงพยาบาลหลายแห่ง” เริ่มเตียงไม่เพียงพอ “รองรับผู้ป่วย” แม้ทยอยเพิ่มเตียงสำรองมากแล้วก็ไม่อาจพอรับผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะ “เขตพื้นที่กรุงเทพฯ” มีอัตราสูงสุดของประเทศแตะทะลุพันคนต่อวัน แต่ขณะที่ “เตียงผู้ป่วยไอซียู” กลับนับถอยหลังเหลือน้อยลงเรื่อยๆ
...
กลายเป็นความโกลาหลการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วย “ผู้คนติดเชื้อต้องถูกลอยแพ” ร้องขอความช่วยเหลือผ่านสื่อโซเชียลฯไม่เว้นแต่ละวัน ดังนั้นการลดผู้ป่วยไหลเข้าโรงพยาบาลต้องกดระดับการระบาดน้อยที่สุด
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หน.ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า หลายประเทศต่างเผชิญโรคระบาดรอบ 3 มีผู้ป่วยสูงเท่าตัวไม่ต่างจาก “ในไทย”
อย่างเช่น อินเดียมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 3 แสนคนต่อวัน ประเทศยุโรปยกเว้น อังกฤษและอเมริกาใต้ก็ระบาดหนัก หลักสำคัญมาจาก 2 ปัจจัย คือ
ปัจจัยแรก... “เชื้อไวรัสกลายพันธุ์” โดยเฉพาะ “สายพันธุ์อังกฤษ” ปรากฏพบว่ากำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในประเทศทั่วโลก ที่มีลักษณะเด่นติดต่อง่ายแพร่กระจายรวดเร็ว
ปัจจัยสอง...“ใช้มาตรการ social distancing เว้นระยะห่างในสังคม เพื่อช่วยลดการกระจายเชื้อเป็นไปได้ยาก” เพราะความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี ทั้งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ “มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ” ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ที่คงมีประชาชนร่วมกันเป็นคนหมู่ใหญ่เช่นเดิม
ขณะเดียวกัน “สหรัฐฯ อังกฤษ อิสราเอล” กลับมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดอันมาจาก “การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ” ทั้งยังปรับนโยบายบริหารจัดการต่อสู้โควิด-19 สามารถคุมโรคระบาดได้ดียิ่งขึ้น
จริงๆแล้ว...“ประสิทธิภาพวัคซีนใช้อยู่ทั่วโลก” ตามหลักการต้องป้องกันเชื้อไวรัสได้ดี และไม่ให้มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น แยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ...“คุณสมบัติป้องกันเจ็บป่วย” บางชนิดคุณภาพสูง 70-90% ตามหลักฐานทางวิชาการชัดเจน เช่น วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา จอห์นสัน แอนด์จอห์นสัน
บางยี่ห้อประสิทธิภาพ 50-60% เช่น วัคซีนซิโนแวค ตามชุดข้อมูลป้องกันเจ็บป่วย 56-67%
ส่วนที่สอง...“ป้องกันติดเชื้อแพร่เชื้อ” ต้องอาศัยหลักฐานการฉีดในวงกว้างเป็นองค์ประกอบของประสิทธิภาพป้องกันได้จริง เช่น “วัคซีนไฟเซอร์” ที่ใช้ใน “อังกฤษ อิสราเอล” มีผู้รับวัคซีนแล้วป้องกันการติดเชื้อได้
ในส่วน “แอสตราเซเนกา” ข้อมูลใช้จริงกำลังรวบรวมไม่นานมากนัก แต่เห็นแนวโน้มการใช้ใน “อังกฤษ” ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเช่นกัน นั่นหมายถึงว่า “วัคซีนชนิดนี้” น่าจะมีประสิทธิภาพป้องกันได้ดีด้วย แต่ว่า “สหรัฐฯ” ก็ใช้วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็มีผู้ป่วย รายใหม่ลดลงเช่นกัน
ย้ำว่า...“วัคซีนทุกชนิดทั่วโลกความปลอดภัยสูง” เพราะผ่านทดสอบหลากหลายขั้นตอน และทดสอบในอาสาสมัครหลายหมื่นคน เมื่อใช้คนหมู่มากหลักล้านคน ย่อมมีโอกาสปรากฏผลข้างเคียงเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ในวงการแพทย์ต่างสนใจ “ทุกผลข้างเคียง” เพื่อเก็บข้อมูลนำวิเคราะห์ปรับปรุงพิจารณาออกมาตรการต่อไป
...
แต่ตอนนี้ “ไม่มีข้อมูลผลเสียน่ากังวล” มากเท่า “ผลดี” ต่อการป้องกันทำให้ “ยุโรปและสหรัฐฯ” ออกแถลงการณ์ “วัคซีนทุกชนิดมีประโยชน์เหนือกว่าผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น” ทั้งแนะนำให้ฉีดต่อไปด้วย
ย้อนมาดู...“ประเทศไทย” ค่อนข้างน่าเป็นห่วงในการระบาดรอบนี้ “เป็นไวรัสอังกฤษ” ที่ปรากฏพบการระบาดในช่วงต้นเดือน เม.ย.2564 แพร่กระจายในหลายพื้นที่แล้วอันแสดงว่า “เชื้อไวรัส” ระบาดมาก่อนหน้านี้
สิ่งสำคัญ “มาตรการลดการระบาด” ประกาศใช้จริงจังหลัง “สงกรานต์” ที่เชื้อไวรัสกระจายเป็นวงกว้างแล้วทั้งช่วงแรกไม่อาจหยุดยั้งการแพร่เชื้อได้ จนต้อง “ยกระดับมาตรการรอบ 2” เข้มงวดยิ่งขึ้น ดังนั้นมาตรการครั้งนี้ “มีผลยอดผู้ติดเชื้อลดลงจริง” ต้องปล่อยผ่านไปไม่ต่ำกว่า 10 วัน ดังนั้นช่วงนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงอีก 7-10 วัน
ทว่า...“การเคลื่อนย้ายผู้คนออกต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์” อาจไม่ใช่ปัจจัยที่มาตัวเลขแพร่เชื้อนัก สังเกตหลังเทศกาล 10 วัน ผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดค่อนข้างน้อย แต่คงกระจุกตัวในกรุงเทพฯและปริมณฑล
ยกเว้น “จังหวัดท่องเที่ยว” เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้คนเดินทางเข้าพักค้างแรมกัน ทำให้มีผู้ติดเชื้ออยู่แต่ก็ไม่มาก ดังนั้น “สงกรานต์” ไม่ใช่ต้นตอหลักในการกระจายเชื้อไปทั่วประเทศก็ได้
...
ตอกย้ำว่า... “ผู้ติดเชื้อกระจุกอยู่กรุงเทพฯและปริมณฑล” แบ่งเป็น 2 ปัจจัย คือ ส่วนแรก...“มาตรการ social distancing ขัดพฤติกรรมคนไทย” ถูกบังคับให้อยู่ห่างกันได้ลำบาก ทำให้ใช้ได้ชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนที่สอง...“ ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ” ลักษณะระบาดกระจายง่ายทำให้เห็นอัตราเร่งติดเชื้อสูงกว่าการระบาดก่อนนี้
ถ้ารับเข้าในโพรงจมูกจะมีปริมาณเชื้อเยอะแบ่งตัวได้ดีขึ้น ที่มักไม่มีอาการราว 95% และแพร่สู่คนอื่นได้ง่ายอย่างรวดเร็ว เมื่ออัตราติดเชื้อสูงหลักหมื่นคนย่อมมี “ผู้ป่วยหนัก” มากขึ้นตามมาเสมอ ทั้งยังสัมพันธ์ “หมู่เลือด A” มีแนวโน้มติดง่ายอาการรุนแรงกว่าหมู่เลือดอื่นตามการตรวจ “ผู้ป่วย” ก็มักพบเชื้อลงปอดเร็วหลังการป่วยได้ไม่กี่วัน
อันเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้รวดเร็ว แต่ว่าสายพันธุ์อังกฤษมีผลให้อาการรุนแรงนี้ยังมีข้อมูลขัดแย้งกันอยู่ ส่วนที่สาม...“ผู้ติดเชื้อชั้นกลางขึ้นไป” มีการเดินทางพบปะหาสู่กันกลายเป็นนำเชื้อแพร่ให้ชาวบ้านกว้างขวางขึ้น
ประการต่อมา...“ฉีดวัคซีนครอบคลุมคนไทย” ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอยู่มาก เพราะตามที่ฉีดให้คนไทยเดือนละ 1 แสนโดส มักพบปัญหามากมาย แต่ “รัฐบาล” กลับตั้งเป้ากระจาย 10 ล้านโดสต่อเดือน นับว่าเป็นมหกรรมครั้งใหญ่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาก่อน ดังนั้นต้องวางแผนกันล่วงหน้าให้ดีที่ไม่ใช่มอบนโยบายเท่านั้น
ตั้งแต่วางแผนจัดตั้งศูนย์ คลินิกฉีดวัคซีน บุคลากรดำเนินการ โดยเฉพาะสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยสมัครใจกล้าออกมารับ “วัคซีน” เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ มิเช่นนั้น “โปรแกรมฉีดวัคซีน” ไม่อาจประสบความสำเร็จได้
ประเด็น...“เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่พอ” ต้องยอมรับว่าผู้ติดเชื้อครั้งนี้เกินคาดการณ์ ทำให้ศักยภาพการเตรียมพร้อมในโรงพยาบาลไม่สอดรับจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าได้ทัน สิ่งที่น่ากังวล “ผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม” มีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยอาการหนักราว 3-5% ที่ต้องเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลทั่วไปด้วยซ้ำ
...
ปัญหาว่า “เตียงผู้ป่วยหนัก” ขยายไม่ได้เสมือน “โรงพยาบาลสนาม” เพราะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยรุนแรงมากมาย ทั้งจัดทีมพยาบาล แพทย์หลายสาขา ต้องเข้าใจว่าผู้ป่วย 1 ราย มีแพทย์เฉพาะทางดูแลไม่ต่ำกว่า 3 คน เหตุนี้ โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอาจต้องเผชิญรับภาระอย่างหนักอีกด้วย
แต่ว่า “รัฐบาล” กลับชี้แจงด้วยการนำยอดรวมเตียงผู้ป่วยหนักทั่วประเทศ เช่นนี้ทำให้เป็น “ตัวเลขเตียงหลอก” ไม่สอดคล้องสถานการณ์จริง “โรงพยาบาลในเขตระบาดหนัก” กำลังเข้าสู่วิกฤติแล้ว ส่วนแนวคิดเคลื่อนย้าย “ผู้ป่วยหนัก” ไปรักษายังโรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่มีเตียงพอรับผู้ป่วย เรื่องนี้ทางเทคนิคการแพทย์เป็นไปได้ยากมาก
มองว่า “โรงพยาบาลรอบพื้นที่กรุงเทพฯ” ต้องช่วยรับ “ผู้ป่วยอาการเบา” เพื่อเตรียมโรงพยาบาลขนาดใหญ่รองรับ “ผู้ป่วยหนักจำเป็น” สุดท้ายแล้วต้องหยุดคนไข้ไหลเข้าโรงพยาบาลด้วยการตัดตอนการระบาดให้ได้
ฝากไว้ว่า “วิกฤติระลอก 3 หนักหนาสาหัสกว่าครั้งใดๆ” ต้องอาศัยความร่วมมือ “คนไทย” เพื่อลดการระบาดโดยเร็ว เชื่อมั่นว่า “แรงของพวกเรา” จะทำให้ผ่านพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปด้วยกันได้.