ศบค. รายงานคลัสเตอร์ร้านทองสระแก้ว เชื่อมโยงสถานบันเทิงที่ กทม. พบติดเชื้อแล้ว 26 คน พร้อมย้ำ จะต้องไม่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการรอเตียง

จากกรณี ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิดวันนี้ (19 เม.ย. 64) พบจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายใหม่ 1,390 ราย ยอดยืนยันสะสมพุ่งไปที่ 43,742 ราย รักษาหายอีก 104 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ศพ รวมเสียชีวิต 104 ศพ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ หรือ หมอเบิร์ท ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เนื่องจากมีการปรับสีในบางจังหวัด เนื่องจากคนภายนอกติดเชื้อ แล้วเดินทางเข้ามาในพื้นที่ ทำให้คนในครอบครัว หรือคนรอบข้างเกิดการติดเชื้อ และกลายเป็นการปรับสีเป็นสีเหลือง 

ตัวอย่าง ที่ จ.สระแก้ว ที่ทำให้เห็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเดือนเมษายน อย่างชัดเจน โดยผู้ติดเชื้อ เป็นชาว จ.สระแก้ว อายุ 41 ปี เจ้าของธุรกิจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงย่านทองหล่อ จากนั้นวันที่ 31 มี.ค. ยังมีการเดินทางไปพบบุคคลในส่วนราชการ ร้านอาหาร ทำงานที่ร้านขายทอง ไปพบเพื่อน ไปสนามบอล และสุดท้ายทำให้เกิดคลัสเตอร์ ยืนยันผู้ติดเชื้อแล้ว 26 ราย ซึ่งเป็นการรับเชื้อจากสถานบันเทิง แพร่ให้คนในครอบครัว และไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นพื้นที่ชุมชน นี่เป็นที่มาของการออกข้อกำหนด ในการแบ่งพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด

...



อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะต้องประเมินตัวเองด้วยว่า เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงหรือไม่ ถ้าคุยกันเกิน 5 นาที แล้วไอ จาม รดกัน อาจทำให้ตกเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ หรือกรณีที่มีรายงานพื้นที่เสี่ยงสูง ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ จำเป็นต้องรีบไปตรวจทันที ระหว่างที่ไปตรวจนั้น เราเป็นผู้ต้องสงสัยที่ติดเชื้อ ต้องกลับมากักตัว ซึ่งการตรวจครั้งแรก อาจจะไม่เจอเชื้อ ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ไม่ป่วย และเกิดการเดินทางในชุมชน ซึ่งภายหลังอาจทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็วได้

ทั้งนี้ หากเป็นผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ ให้กักตัว 14 วัน งดการสัมผัสผู้อื่น งดเดินทาง ห้ามไปในที่ชุมชน และลดการนัดหมายทุกสิ่ง

ในส่วนของการบริหารเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด ซึ่งจะมีทั้งในส่วนของ กทม., อว., กองทัพ หรือ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งตอนนี้เราใช้ระบบมาจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากที่สุด แต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ และเข้าสู่ระบบการรักษา จะมีการประเมินความเสี่ยง โดยการคัดแยก จะนำไปสู่การระบุว่า มีอาการหรือไม่ ถ้าเป็นสีเขียว คือ กลุ่มที่แข็งแรงดี ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย, สีเหลือง คือ เริ่มมีอาการ หรือมีอาการเหนื่อยหอบ หรือมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง และสีแดง มีอาการรุนแรง หรือได้ออกกำลัง 6 นาที แล้วมีอาการเหนื่อย กลุ่มนี้ต้องได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการจัดการเตียงที่ รพ.สนาม จะเข้ามาตอบโจทย์ คนที่ยังแข็งแรงดี 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำ จะต้องไม่มีผู้ป่วย ที่เสียชีวิตจากการรอเตียง การจัดสรรตอนนี้ก็ไม่ใช่แค่เตียง แต่รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ด้วย