ถึงแม้โควิดเป็นมหันตภัยร้ายแรงอาละวาดจนโลกทั้งใบปั่นป่วนไปหมด แต่ก็ทำให้คนทั่วโลกตื่นตัวใส่ใจกับสุขภาวะมากขึ้น ระบบสาธารณสุขของไทยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คนไทยรักสะอาด สังเกตง่ายๆ เราแทบไม่เห็นคนจามโดยไม่ปิดปาก เวลาเข้าห้องน้ำก็ล้างมือเสมอ แม้บางคนล้างแค่น้ำเปล่าก็ตาม นี่เป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารอดพ้นจากโควิดมาได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องสุขภาวะไม่ได้มีเฉพาะด้านการรักษาความสะอาด ยังมีอีกหลายด้านที่ช่วยให้ชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัยและเป็นสุข รัฐบาลประกาศหลายครั้ง นายกฯก็พูดหลายหน ว่าการดูแลป้องกันดีกว่าการรักษา แต่การขับเคลื่อนผลักดันให้สังคมตื่นตัวยังน้อยไปหน่อย
นพ.พงศ์ธร เกียรติดำรงวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันการแพทย์ ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เคยบอกผมว่า การสอนให้คนในสังคมมีความรู้เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน แม้ใช้เวลายาวนานกว่าจะสำเร็จ แต่ทำแล้วยั่งยืน จำเป็นต้องทำ การป้องกันเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ส่วนการรักษาเป็นเรื่องปลายเหตุ ทุกปีประเทศหมดเงินไปกับการดูแลรักษาผู้ป่วยถึง 3% ของจีดีพี (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) ถ้าทำให้ลดเหลือ 1.5% ของจีดีพี (ประหยัดไป 2.5 แสนล้านบาท) จะเหลือเงินไปใช้จ่ายด้านอื่นได้อีกเยอะ
เมื่อใดที่คนไทยมีจิตสำนึกรักสุขภาพใส่ใจความปลอดภัยดีขึ้นเรื่อยๆ คนไทยก็จะปลอดภัย Healthy Nation คือ Wealthy Nation ถ้าคนในประเทศสุขภาพดี ประเทศจะรวยโดยอัตโนมัติ เพราะไม่ต้องใช้เงินไปกับการรักษา
ช่วงนี้เซิร์ฟสเกตกำลังเป็นที่นิยม แต่คนเล่นมีไม่ถึงครึ่งที่สวมหมวกนิรภัยและอุปกรณ์ป้องกัน พอเกิดอุบัติเหตุก็จะได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือแต่ละปีเรามีคนตายคาที่จากอุบัติเหตุบนถนนไม่ต่ำกว่า 5 พันคน กลับไม่เห็น หน่วยงานไหนออกมารณรงค์ปลุกสร้างจิตสำนึกอย่างจริงจัง
...
การแพทย์ฉุกเฉินเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องของ สพฉ. ประชาชนทุกคนควรรู้ว่าจะดูแลช่วยตัวเองอย่างไร จะเรียกรถฉุกเฉิน หรือโทร. 1669 เมื่อไหร่ คำว่าฉุกเฉินมีความรุนแรงไม่เท่ากัน จุดที่ต้องโทร.เรียกรถฉุกเฉินคือกรณีฉุกเฉินวิกฤติ ถ้าเป็นฉุกเฉินไม่วิกฤติยังไม่ต้องโทร.เรียก และควรรู้ว่าจะดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไรเพื่อไม่ให้อาการลุกลามถึงขั้นฉุกเฉินวิกฤติ
นพ.พงศ์ธรยกตัวอย่างตอนกินอาหารแล้วรู้สึกคันคอ หน้าแดง ขึ้นผื่น นี่คือป่วย แต่ยังไม่ฉุกเฉิน พอกลับถึงบ้านเริ่มหายใจติดขัด จุดนี้คือฉุกเฉิน ควรรีบไปโรงพยาบาลด้วยตัวเอง แต่ถ้าฝืนไม่ไปโรงพยาบาล ทิ้งไว้ถึงกลางดึก เกิดหน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม หายใจไม่ออก จุดนี้กลายเป็นฉุกเฉินวิกฤติ ต้องเรียกรถฉุกเฉินแล้ว (เปิดดูในกูเกิลได้ว่าสัญญาณบ่งชี้อาการเข้าขั้นวิกฤติฉุกเฉินมีอะไรบ้าง)
แต่ละปีมีคนโทร. 1669 ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านสาย ปัญหาคือ 20% (กว่า 2 แสนสาย) เป็นการโทร.เรียกรถฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น อาการยังไม่ถึงขั้นฉุกเฉินวิกฤติ ถึงแม้ทุกคนมีสิทธิใช้บริการ 1669 แต่ต้องใช้อย่างรู้คุณค่า เพราะ Health Care เป็นทรัพยากรจำกัด ควรเก็บไว้ให้คนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ
นพ.พงศ์ธรบอกด้วยว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ คลิปวิดีโอ หรือ รายการให้ความรู้ประเภท “รู้เพื่อรอด” เช่น รู้ว่าอาหารติดคอต้องทำอย่างไร เห็นคนจมน้ำจะช่วยอย่างไร รวมถึงการสร้างสุขภาวะด้านต่างๆ ถ้าดูแลป้องกันตรงนี้ได้ เราจะเซฟชีวิตและงบประมาณได้มหาศาล
ผมขอถือโอกาสนี้ย้ำเตือนเรื่องสำคัญ วันที่ 1 ต.ค.นี้ รพ.สต.จะโอนไปอยู่กับ อบจ.แล้ว ระหว่างนี้ผมอยากให้มีการประสานงานเตรียม ความพร้อมให้เรียบร้อย โดยเฉพาะ อบจ.ต้องเป็นผู้ให้ความรู้คนในชุมชน จะจัดหลักสูตรอบรมสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาวะ หรือจัดหาเครื่องมือรักษาพยาบาล ก็เตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ ยึดหลัก “ชุมชนต้องเข้มแข็ง” เป็นสำคัญ.
ลมกรด