สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับแฟนเพจรายหนึ่งที่ติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามาในเพจทนายเจมส์ lk เพื่อให้แนะนำข้อกฎหมายและวิธีการดำเนินคดีกับแฮกเกอร์ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพจ และยึดเพจเป็นของตัวเอง พร้อมกับเรียกเงินค่าไถ่เพจคืน สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของเพจเป็นอย่างมากครับ เนื่องจากเพจดังกล่าวนั้นเป็น Pages เกี่ยวกับการแต่งรถ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 คน และมีคลิปวิดีโอผลงานเกี่ยวกับการแต่งรถซิ่งที่เจ้าของเพจได้นำมาโพสต์ให้ลูกค้าและผู้ติดตามได้ชมผลงานหลายร้อยคลิป
วิธีการของแฮกเกอร์รายนี้เริ่มจากการโทรแจ้งเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่เจ้าของเพจมักจะโพสต์หมายเลขโทรศัพท์ไว้หน้าเพจ เพื่อให้ลูกค้าติดต่อสอบถาม โดยแฮกเกอร์อ้างว่าซิมโทรศัพท์มือถือชำรุดแล้ว ขอให้เจ้าหน้าที่ส่งซิมการ์ดไปให้ใหม่ พร้อมทั้งมีการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ในการจัดส่งซิมการ์ดด้วย เมื่อซิมการ์ดถูกส่งไปที่แฮกเกอร์ แฮกเกอร์ก็ดำเนินการเข้าสู่ระบบของเพจ โดยขอให้ผู้ดูแลระบบ Facebook ส่งรหัส OTP ไปที่กล่องข้อความของหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว ซึ่งก็เป็นที่น่าสงสัยว่า แฮกเกอร์ ทราบข้อมูลสำคัญของเจ้าของเพจ และเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ได้อย่างไร เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด และหมายเลขบัตรประชาชน รวมไปถึงวันหมดอายุของบัตรประชาชน เป็นต้น
เมื่อแฮกเกอร์เข้าสู่ระบบของ Pages แล้ว ก็จะดำเนินการเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญหลายอย่างของเพจ เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และรหัสผ่าน ทำให้ยากต่อการกู้เพจกลับคืน ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนหมายเลขบัญชีรับโอนเงิน เพื่อให้ลูกค้าโอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีธนาคารของแฮกเกอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหมายเลขบัญชีที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลอกให้ผู้อื่นเปิดบัญชีให้ ซึ่งก็จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่เปิดบัญชีดังกล่าวอีกด้วย
...
การที่แฮกเกอร์เข้าไปในระบบของ Pages ถือเป็นการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
มาตรา 5 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 7 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่แฮกเกอร์ได้หลอกลวงให้ลูกค้าโอนเงินไปในบัญชีของตนเองนั้น ก็มีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม ทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นอกจากนี้ แฮกเกอร์จะต้องรับโทษหนักขึ้น เนื่องจากเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น หรืออ้างว่าเป็นเจ้าของเพจ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกอบกับมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อีกฐานหนึ่งด้วย
มาตรา 14 “ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา....”
อุทาหรณ์ของเรื่องนี้ทำให้รู้ว่า เราควรจะแยกเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้รับรหัส OTP หรือใช้ยืนยันข้อมูลกับผู้ดูแลระบบ Facebook ออกจากเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อกับลูกค้าหรือที่ต้องโพสต์ที่หน้าเพจ รวมไปถึงควรระมัดระวังเรื่องของข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขประจำตัวประชาชน ตลอดจนวันทำบัตรกับวันหมดอายุ เพื่อให้ยากต่อการแฮกเพจ หรือ Facebook ของท่านครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
...
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk