ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซิโนแวค (Sinovac) ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) สปุตนิก วี (SputnikV) ชื่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ประเทศมหาอำนาจระดับต้นของโลกกำลังเร่งวิจัยและผลิต และแน่นอนคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ช่วงเวลานี้วัคซีนโควิด-19 คือสุดยอดปรารถนาของมวลมนุษยชาติเพราะยอดรวมผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 31 ม.ค.2564 มีจำนวน 103.13 ล้านคน เสียชีวิต 2.2 ล้านคน จึงเป็นเหตุให้ทุกประเทศเร่งหาวัคซีนมาฉีดเพื่อป้องกันโรค โดยสหรัฐอเมริกา ฉีดไปแล้ว 27.3 ล้านโดส คิดเป็น 8.31% ของประชากร จีนฉีดแล้ว 23 ล้านโดส คิดเป็น 1.64% ของประชากร สหภาพยุโรป (อียู) ฉีดไปแล้ว 10.91 ล้านโดส คิดเป็น 2.46% ของประชากร เป็นต้น ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว มี 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เมียนมา ขณะที่ไทยประกาศว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในเดือน ก.พ.2564 นี้
สำหรับประเทศไทย “ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอสรุปเพื่อให้สังคมไทยเห็นภาพชัดเจนว่า ไทยเริ่มกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 มาตั้งแต่กลางปี 2563 โดยตั้งคณะทำงานต่างๆขึ้นมาศึกษาและติดตามข้อมูล ทั้งด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย ตั้งเป้าในปี 2564 จะหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยครอบคลุม 50% ของประชากร โดยมาจาก 3 ช่องทาง
...
1.โครงการความร่วมมือด้านวัคซีนนานาชาติระดับโลก หรือ COVAX จำนวน 20% 2.การจองซื้อและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตราเซนเนกา เพื่อให้สามารถผลิตในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส หรือ 20% ของประชากร ซึ่งทุกอย่างดำเนินการได้ตามแผนการผลิต โดยจะมีวัคซีนฉีดได้ต้นเดือน มิ.ย.2564 และ 3. จากบริษัทอื่นๆอีก 10% ซึ่งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และไทยไม่ได้จัดซื้อวัคซีนล่าช้าแต่ระหว่างรอวัคซีน ที่จะได้รับกลางปีจากแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย ก็ได้มีการเจรจาจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศอิตาลี โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเข้าลอตแรก จำนวน 50,000 โดสในเดือน ก.พ.นี้ และจะทยอยส่งอีก 150,000 โดสในเดือน มี.ค.และ เม.ย.ตามลำดับ รวมทั้งสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวค จากประเทศจีน คาดว่าจะเข้าไทยได้ในเดือน ก.พ.นี้เช่นเดียวกัน
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 ระบุถึงกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนลอตแรกนี้ ว่า “กลุ่มเป้าหมายแรกจะฉีดในพื้นที่ที่มีการระบาดเพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ โดยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน คนมีโรค ประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ เรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้า ที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการฉีดโดยสมัครใจ”
และเนื่องจากการรับวัคซีนครั้งนี้เป็นไปด้วยความสมัครใจ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนในการประเมินตนเอง เพื่อจะรับหรือไม่รับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ ว่า “ความจริงแล้วทุกคนในประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 แต่ความเสี่ยงมีมากน้อยขึ้นกับลักษณะงาน พฤติกรรม รวมทั้งกิจกรรมที่ทำด้วย รวมทั้งต้องดูด้วยว่าตนเองมีโรคประจำตัวหรือไม่ ถ้ามีโรคประจำตัวด้วยก็ยิ่งควรฉีด เพราะเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง แต่หากยังกังวลใจอยู่ก็รอดูอีกระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องป้องกันตนเอง โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงไปในสถานที่มีคนจำนวนมากๆ ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเตรียมเข้ารับวัคซีนโควิด-19 นั้น จะต้องดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรง เพราะเราจะไม่ฉีดวัคซีนให้กับคนที่มีไข้”
...
ส่วนขั้นตอนการฉีดวัคซีนนั้น มี 12 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.สำรวจกลุ่มเป้าหมาย 2.เตรียมสถานที่ บุคลากร และอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูง 3.เตรียมชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ และประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด 4.เตรียมอุปกรณ์เก็บวัคซีนระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain) 5.เตรียมระบบข้อมูลข่าวสาร 6.นัดกลุ่มเป้าหมายเข้ารับวัคซีน เข็มที่ 1 7.ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 โดยต้องประเมินความเสี่ยงก่อนฉีด และสังเกตอาการหลังฉีด อย่างน้อย 30 นาที 8. ติดตามและประเมินอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน 9.นัดหมายรับวัคซีน เข็มที่ 2 10.ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 11.ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีนเข็มที่ 2 12.รับใบยืนยันการรับวัคซีน
ส่วนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า “การเลือกวัคซีนเราจะเน้นความปลอดภัยของวัคซีนเป็นอันดับแรก สำหรับไทยนำเข้าวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา และบริษัทซิโนแวค โดยบริษัทแอสตราเซนเนกาใช้ไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคน นำมาใส่พันธุกรรมที่สร้างโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะจดจำว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 อีกครั้งจะจำได้และกำจัดออกจากร่างกาย ส่วนวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ซึ่งใช้เทคโนโลยีนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้อ่อนแรง ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เราใช้มานาน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งตามทฤษฎีและประสบการณ์ส่วนตัว ผมถือว่าปลอดภัย
...
ผมอยากเชิญชวนคนไทยทุกคนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 60 รวมกับคนอีกจำนวนหนึ่งที่เคยป่วยและหายแล้วซึ่งมีภูมิคุ้มกัน คาดว่าเราจะมีภูมิคุ้มกันในประเทศประมาณ ร้อยละ 60-70 ก็จะทำให้โรคโควิด-19 ถูกกำจัดไปได้ นี่คือเหตุผลที่ผมอยากย้ำว่า นี่คือการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยชาติ เพราะเมื่อเราฉีดวัคซีนจะเป็นการป้องกันตนเอง ให้ปลอดภัยจากโรค ถ้าทุกคนฉีดกันมากๆกว่าค่อนประเทศ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 ก็จะอยู่ในประเทศไทยไม่ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำทิ้งท้าย
“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอย้ำว่า แม้เราจะมีวัคซีนฉีดแล้ว ในเวลาอีกไม่นาน แต่วัคซีนส่วนตัว ที่เราป้องกันตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่าง ยังเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หากใช้ควบคู่กันกับวัคซีนฉีดเพื่อสังคมไทยปลอดภัยจากโรคโควิด-19.
...
ทีมข่าวสาธารณสุข