
เพิ่ม 2 สิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองรักษาการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า บอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง และการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ตรวจคัดกรองแล้วมีปัญหาหูหนวก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยและไม่สูญเสียโอกาสทางสังคม เนื่องจากการได้ยินเป็นพื้นฐานสำคัญของการพูดและพัฒนาการทางภาษา โดยเฉพาะเด็กช่วงอายุ 3 ปีแรกของชีวิต หากมีความผิดปกติทางการได้ยินจะส่งผลกระทบโดยตรงกับพัฒนาการ ทั้งการพูด ภาษา การเรียน จิตใจ เป็นต้น จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
นายอนุทินกล่าวด้วยว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ได้รายงานสถานการณ์ความผิดปกติทางการได้ยิน โดยในปี 2555 เป็นความพิการที่พบมากเป็นลำดับที่ 3 ของโลก ในประชากร 7,000 ล้านคน พบความพิการทางการได้ยินมากถึง 360 ล้านคน หรือ 5.3% และในจำนวนนี้เป็นความพิการในเด็ก 9%
ข่าวแนะนำ
สำหรับประเทศไทยเมื่อพิจารณาเด็กแรกเกิดทั้งประเทศจากจำนวน 656,571 คน ในปี 2560 ประมาณการว่าจะมีเด็กหูหนวกจำนวน 328 คนต่อปี ความพิการทางการได้ยินที่เกิดกับเด็กไทยนี้ ทางการแพทย์แก้ไขด้วยการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม บอร์ด สปสช.จึงได้เห็นชอบบรรจุสิทธิประโยชน์ “รายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable” สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90 dB ขึ้นไป และไม่เคยฝึกภาษามือ คาดว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับการรักษาราว 33 คน ระหว่างนี้ สปสช.อยู่ระหว่างต่อรองราคาค่าประสาทหูเทียมให้ต่ำกว่าชุดละ 600,000 บาท
ขณะเดียวกันยังเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 30,434 คน ประมาณการค่าใช้จ่ายไว้ 12.33 ล้านบาท ครอบคลุมการตรวจการได้ยิน 2 รายการ คือ 1.การตรวจคัดกรองด้วยการวัดการสะท้อนกลับของเสียงที่เกิดขึ้นในหูชั้นใน (OAE) โดยใช้เครื่องมือ วัดการสะท้อนกลับของเสียงที่เกิดขึ้นในหูชั้นใน เพื่อตรวจสอบการทำงานของเซลล์ประสาทว่าปกติหรือไม่ และ 2.การตรวจการได้ยินระดับก้านสมองแบบคัดกรอง (A-ABR) เป็นการวัดคลื่นประสาทที่เกิดจากการตอบสนองด้วยเสียงกระตุ้น สิทธิประโยชน์ใหม่ทั้ง 2 รายการนี้จะเกิดขึ้นในปี 2564 นี้.