- 7 สาวติดโควิด-19 จากท่าขี้เหล็ก ลอบข้ามแดนช่องทางธรรมชาติ
- กองทัพ ปิดจุดบอด เสริมกำลังแนวชายแดน สกัดกั้น-อุดรูรั่ว
- ผบ.ทบ. โต้ไม่มีทหารรับสินบนเพื่อเปิดทางให้ข้ามแดน
ผลพวงจาก 3 สาววัยกระเตาะทำงานสถานบันเทิงในฝั่งประเทศเมียนมา ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อกลับบ้านเกิดประเทศไทย โดยเลือกวิธีไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อหนีการกักตัว ก่อนมารู้ว่าติดโควิด-19 แถมใช้ชีวิตเสพสุข ทั้งเที่ยวกลางคืน เข้าบาร์โฮสต์ ดูหนัง กินข้าว ซื้อของในศูนย์การค้า เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
รายแรก สาวอายุ 29 ปี จ.เชียงใหม่ ผู้ป่วยหญิงรายนี้อาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ แต่ทำงานที่เมียนมาตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.63 ถึง วันที่ 23 พ.ย.63 เริ่มมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว ทานยาลดไข้เอง จนวันที่ 27 พ.ย.63 ได้รับการยืนยันว่าพบเชื้อโควิด-19
รายที่ 2 เป็นสาววัย 26 ปี จ.เชียงราย วันที่ 16-22 พ.ย.63 ขณะทำงานอยู่ท่าขี้เหล็ก มีอาการไอแห้งๆ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เพียงแต่ซื้อยามากินเท่านั้น วันที่ 23-24 พ.ย.63 อยู่ท่าขี้เหล็ก ทำงานตามปกติ ไม่มีอาการไข้ วันที่ 27 พ.ย.63 เดินทางกลับประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติพร้อมกับเพื่อนชาวไทย 1 คน โดยมีผู้นำทางเป็นชาวเมียนมา วันที่ 29 พ.ย.63 ผลตรวจพบติดเชื้อโควิด-19
...
รายที่ 3 เป็นสาววัย 23 ปี จ.เชียงราย ต้นเดือน พ.ย.63 ทำงานที่เมียนมา 27 พ.ย.63 เดินทางกลับประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติพร้อมกับเพื่อนชาวไทย 1 คน โดยมีผู้นำทางเป็นชาวเมียนมา 30 พ.ย.63 ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์
ต่อมา กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงสถานการณ์ (2 ธ.ค.) พบมีผู้กลับมาจากพม่า รอผลตรวจยืนยันโควิด-19 อีก 4 ราย ที่พะเยา กทม. พิจิตร และราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากท่าขี้เหล็ก ติดเชื้อโควิดแล้ว 10 ราย
1. หญิงอายุ 28 ปี จ.พะเยา ทำงานโรงแรมท่าขี้เหล็ก วันที่ 27 พ.ย. เดินทางเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ วันที่ 29 แฟนขับรถจากพะเยามารับไปเที่ยวงานสิงห์ปาร์ค วันที่ 30 พ.ย. เดินทางไปเชียงใหม่ เข้าตรวจเชื้อ รพ.เอกชน กลับพะเยาโดยรถยนต์ส่วนตัว เข้ารับการรักษาใน รพ.พะเยา ได้รับแจ้งว่าติดเชื้อ
2. หญิงอายุ 21 ปี กทม. ได้เดินทางไปเที่ยวโรงแรมที่ จ.ท่าขี้เหล็ก พร้อมเพื่อนสนิท 1 คน วันที่ 17-27 พ.ย. วันที่ 28 พ.ย. เดินทางจากพม่าเข้าทางช่องทางธรรมชาติแม่สาย จ.เชียงราย ขณะนั้นเริ่มมีไข้ เจ็บคอ เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในแม่สาย ประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนจะเรียกแกร็บไปสนามบิน และเดินทางเข้า กทม. ลงที่สนามบินดอนเมือง และนั่งแท็กซี่ไปคอนโดย่านอุดมสุข วันที่ 29 พ.ย. พบว่าหญิงวัย 21 ปีไปคลินิกย่านอุดมสุข ก่อนที่คลินิกจะแนะนำให้ไป รพ. จึงเดินทางไปโดยรถยนต์ส่วนตัวกับแฟน เพื่อไปตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งย่านบางนา ผลเบื้องต้นพบเชื้อโควิด
3. หญิงอายุ 25 ปี จ.พิจิตร ไปเที่ยวโรงแรมท่าขี้เหล็ก วันที่ 28 พ.ย. เข้าประเทศไทยช่องทางธรรมชาติ มีรถจยย.มารับ ขณะนั้นเริ่มมีไข้ เจ็บคอ น้ำมูก เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในแม่สาย ประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนจะเรียกแกร็บไปสนามบิน และเดินทางเข้า กทม. ลงที่สนามบินดอนเมือง จากนั้น 15.00 น. เดินทางจากดอนเมืองไปพิษณุโลก กลับ จ.พิจิตร เพื่อนมารับวันที่ 1 ธ.ค. สสจ.พิจิตร เก็บตัวอย่างตรวจ พบเชื้อโควิด
...
4. หญิงอายุ 36 ปี จ.ราชบุรี อยู่ประเทศพม่า วันที่ 3-28 พ.ย. ไปเที่ยวที่ท่าขี้เหล็ก วันที่ 26 พ.ย. มีไข้ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ซื้อยากินเอง วันที่ 29 พ.ย. เดินทางกลับไทยช่องทางธรรมชาติ เข้าเชียงใหม่ พร้อมเพื่อน ไม่สวมหน้ากาก นั่งเครื่องบิน ถึงดอนเมือง ขึ้นแท็กซี่จากดอนเมืองไปที่หมอชิต ใช้บริการรถตู้จากหมอชิต ลงที่ บิ๊กซีราชบุรี ใช้บริการรถจักรยานยนต์จากบิ๊กซีไป รพ.เอกชน วันที่ 1 ธ.ค. เพื่อนที่ไปงานเลี้ยงด้วยกันส่งผลตรวจพบเชื้อโควิด แล้วนำส่งตัวต่อไป รพ.ราชบุรี ผลตรวจพบเชื้อโควิด
จากวันที่ 29 พ.ย.-2 ธ.ค. มาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือว่าการ์ดตก เพราะพบหญิงสาวที่กลับจากเที่ยวและทำงานฝั่งท่าขี้เหล็กแล้วถึง 7 รายที่ติดเชื้อ นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าในฝั่งประเทศพม่า ยังเป็นแหล่งที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่ และประเทศไทยเราก็อยู่ในห้วงของการ์ดตกอย่างมาก
จากเหตุนี้ทำให้ประเทศต้องกลับมาทบทวนมาตรการของสาธารณสุข ที่บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆสามารถรับมือได้ดีพอหรือไม่ เพราะทำให้กระทบกระเทือนไปทั้งประเทศ อีกหลายร้อยชีวิตต้องกลายเป็นผู้สัมผัส เป็นผู้ที่มีความเสี่ยง โดยไม่รู้ชะตากรรม ผลพวงนี้ไม่ใช่แค่คน แต่ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ร้านค้า พลอยได้รับผลกระทบไปตามๆ กันด้วย
...
เพราะความมักง่ายที่ไม่เคารพกฎหมาย ระเบียบ กติกาของประเทศ โดยสาวกลุ่มนี้ไปทำงานในฝั่งเมียนมา และไปเที่ยวเกือบทั้งหมด จะเลือกใช้วิธีข้ามแดนแบบไม่ถูกต้อง ดังนั้นคนกลุ่มนี้เมื่อจะกลับเข้าประเทศจึงต้องเลือกใช้ช่องทางธรรมชาติที่มีภูมิประเทศเป็นป่า โดยยึดเอาช่องทางบ้านผาแตก ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทั้งที่จุดดังกล่าวมีกลุ่มผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตั้งจุดตรวจค้นรถทุกคัน
ขณะเดียวกัน ก็มีขบวนการรับจ้างขนคนไทย ชาวต่างชาติ รวมทั้งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติหลายจุดในอำเภอแม่สาย ตั้งแต่บ้านผาแตก ตำบลเวียงพางคำ พื้นที่ตำบลเกาะช้าง พื้นที่ชุมชนเกาะทราย ตำบลแม่สาย พื้นที่สะพานบ้านสันผักฮี้ ตำบลแม่สายมิตรภาพ หากข้ามมาสำเร็จจะมีรถมารับ นำไปส่งพื้นที่ชั้นในของไทย โดยแต่ละคนยอมจ่ายค่าเดินทางรายละ 8,000-10,000 บาท เพื่อผ่านแดนเข้า-ออกได้อย่างสะดวก จนเป็นที่มาของกลุ่มคนดังกล่าวออกมาโพสต์แฉ จ่ายค่าจ้างพาข้ามชายแดน เพื่อพาข้ามเข้ามายังฝั่งไทย เมื่อข้ามฝั่งมาได้แล้วก็จะมีคนมารับเพื่อพาเข้ามายังพื้นที่ชั้นใน
...
ซึ่งในเรื่องนี้ทางฝ่ายความมั่นคง กองทัพ ถึงนั่งไม่ติด โดยเฉพาะ "บิ๊กบี้" พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ต้องออกมาชี้แจงให้เห็นว่า ชายแดนมีพื้นที่กว้างใหญ่ จะให้ทหารกำลังไปยืนทุกจุดนั้นไม่สามารถทำได้ พร้อมยอมรับว่าไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังช่วยเหลือกัน เพราะคนกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ตระหนักผลที่จะเกิดขึ้น
"ยืนยันไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดรับสินบนเพื่อให้สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศโดยไม่ต้องกักตัว พร้อมได้ติดตามการโพสต์ข้อความดังกล่าว และได้มอบหมายให้ "แม่ทัพภาคที่ 3" ส่งชุดปฏิบัติการลงไปในพื้นที่เพื่อสอบสวนเส้นทางโรคติดต่อ และการโพสต์ข้อความบิดเบือนดังกล่าว จนทราบว่าเป็นการรับฟังต่อๆ กันมา และนำไปโพสต์"
"กองทัพบก" ได้ตรวจสอบเส้นทางพบว่าฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมีการรับเงินเพื่อเปิดทางให้คนเหล่านี้ข้ามเข้ามาฝั่งไทย ตรงนี้เราไปจัดการไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของเรา แต่ฝั่งของเราได้พบคนพวกนี้หมดแล้วที่นำพาคนเข้ามา โดยเจ้าตัวก็ไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเดินทางมาจากไหน เพียงแต่รับค่าจ้างมา กระทั่งกองทัพภาคที่ 3 ต้องเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนแล้ว รวมถึงทุกภาคส่วนเมื่อทราบว่าจุดอ่อนเราคืออะไร ทุกคนก็ต้องช่วยกันปิดจุดอ่อนนั้น
"ผมขอฝากให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ด้วย ไม่ใช่ฟังมาแล้วก็โพสต์ว่าเจ้าหน้าที่รับเงิน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทำงานเหน็ดเหนื่อย ทั้งนี้เส้นทางธรรมชาติไม่ได้มีเฉพาะช่องทางหลักที่ทางการเปิดให้ผ่านเข้า-ออก หรือช่องทางที่เจ้าหน้าที่รับทราบ แต่ยังมีช่องทางอื่นๆ อีกมากมายที่เดินทางเข้ามาได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และเป็นช่องทางดั้งเดิมที่คนพื้นที่รู้ดีมากกว่าทหารที่ต้องสับเปลี่ยนกำลังทุกวงรอบ พื้นที่ช่องทางธรรมชาติมีปัญหาตั้งแต่อดีตที่มีการล่าอาณานิคมแล้วนำเส้นทางธรรมชาติไปเป็นเขตแดนจนทำให้เกิดปัญหามาถึงทุกวันนี้ นี่คือผลที่ประเทศไทยได้รับจากการโดนคุกคามตั้งแต่อดีตของพวกจักรวรรดิล่าอาณานิคม" พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ยังส่งผลให้ "กองทัพไทย" โดย "บิ๊กแก้ว" พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ต้องลงนามคำสั่ง "ศปม." ตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังรัฐบาบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 8 พร้อมให้ตั้งจุดตรวจควบคุม คณะตรวจ แต่งตั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ ตรวจสถานที่ต่างๆ ต้ังจุดตรวจร่วม ชุดสายตรวจร่วม ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ที่สำคัญให้เจ้าหน้าที่ทหารคุมเข้มชายแดนเพื่อป้องกันลักลอบเข้าเมือง
รวมทั้งตรวจสอบขบวนการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยมี พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ลงนามคำสั่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ที่ 29/2563 เรื่อง การปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 9) ด้วยตัวเอง
ขณะที่ พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 เผยว่า พื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ในส่วนแนวชายแดนที่มีแนวติดกับประเทศพม่า มีความยาวกว่า 2,401 กม. ตั้งแต่ จ.เชียงราย จนถึง จ.ตาก พื้นที่หลักในจุดผ่านแดนถาวร 2 ส่วน แม่สอด และแม่สาย ที่มียังคงมีการระบาดของโควิด-19 โดยทั้งทั้ง 2 พื้นที่มีคนไทยไปทำงานในพม่า ก่อนหน้านี้มีคนไทยกลับมาบางส่วนแล้ว และมีทำงานบางส่วน ก็ได้แจ้งเตือน จนมาช่วงนี้เกิดการระบาดมากขึ้น
"คนที่ทำงานคงเกิดความหวาดกลัวที่ติดเชื้อโควิด จึงมีการลักลอบเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย จึงอยากให้ทราบในฐานะที่เป็นคนไทย ทุกคนสามารถเดินทางกลับเข้ามาในช่องทางจุดผ่านแดนถาวรได้อย่างถูกต้องเลย เพียงแต่ว่าเราห่วงเรื่องการติดเชื้อ เมื่อเข้ามาแล้วเราก็ขอให้เข้าสถานกักกันของรัฐทันที โดยรัฐบาลได้จัดเตรียมไว้ในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ อ.แม่สอด หรือ อ.แม่สาย เป็นสถานที่กักกันที่ต้องกักตัวเพื่อดูอาการจำนวน 10 วัน"
แม่ทัพภาคที่ 3 ย้ำว่า หากกลัวความผิดแล้วไปลักลอบเข้าเมืองในช่องทางที่ไม่ถูกต้อง อันนั้นน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะเราไม่สามารถควบคุมโรคได้ เราไม่แน่ใจว่ากลับเข้ามามีเชื้อมาด้วยหรือไม่ ถ้าบังเอิญเกิดมีเชื้อเข้าจาก จ.เชียงราย ก็มาแพร่ระบาดในเชียงใหม่ ทำให้สังคมของเราเกิดความวิตก ท่านสามารถกลับเข้ามาได้อย่างถูกต้องในช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ แต่ว่าขั้นตอนอาจช้านิดนึง
"เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จึงมอบหมายให้ กองกำลังผาเมือง ที่ดูแลในพื้นที่ให้เข้มงวดสกัดกั้นและเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารมากขึ้น โดยเฉพาะจุดผ่อนปรนต่างๆ ตลอดจนช่องทางตามธรรมชาติ ที่ต้องกำชับหน่วยให้ดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งปัญหาลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยจะเสริมแนวลวดหนาม ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ เพื่อสกัดกั้นต่างด้าว หากเป็นคนไทยเราพร้อมรับกลับ เพื่อเข้าสู่มาตรการระบบสาธารณสุข คนไทยเมื่อกลับเข้ามาในผืนแผ่นดินไทยแล้วเราจะดูแลอย่างดี พร้อมฝากบอกถึงเพื่อนที่ยังอยู่ฝั่งพม่า หากอยากกลับบ้านให้ติดต่อขอข้ามในจุดผ่านแดนถาวร เพื่อมาเข้าระบบที่ถูกต้อง และเป็นผลดีต่อตัวท่านและเจ้าหน้าที"
ขณะที่ พล.ต.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผบ.กองกำลังผาเมือง ย้ำหลังพบสาวไทยลักลอบข้ามแดนผ่านทางช่องทางธรรมชาติ แล้วตรวจพบโควิด-19 กองกำลังได้สั่งเพิ่มชุดปฏิบัติการคุมพื้นที่มากขึ้น เพื่อสกัดกั้น ป้องกัน โดยเฉพาะแนวชายแดน ช่องทางธรรมชาติ โดยเน้นพื้นที่ จ.เชียงราย เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง ทั้ง อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เชียงแสน ตลอดแนว เพราะลำน้ำตื้นและแคบสามารถลอบเดินข้ามเข้ามาได้ง่าย โดยจัดวางกำลังเสริมตลอด 24 ชั่วโมง โดยบูรณาการร่วมกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และชุมชน พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทราบ นอกจากนี้มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัดเพิ่มอีก 4 จุดในพื้นที่ล่อแหลม รวมทั้งจะบูรณาการกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และชุมชน เป็นด่านตรวจคัดกรอง 3 ชั้นด้วย
"การเพิ่มกำลังชุดเคลื่อนที่เร็วร่วมกับฝ่ายปกครองเพิ่มเติมนั้นเพื่ออุดรอยรั่ว ทั้งทางบกและทางน้ำ หวังยกระดับการเฝ้าระวัง ส่วนด่านศุลกากรแม่สาย สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ก็มีการตรวจคัดกรองเข้มงวด รวมทั้งพ่นฆ่าเชื้อก่อนและหลังการขนส่งสินค้าทุกครั้ง แต่ปัญหาที่มีการนำเชื้อมาแพร่ เพราะมาจากการลักลอบข้ามชายแดนไปทำงาน และกลับเข้ามาโดยไม่มีการกักตัวนั้นเอง"
ผบ.กกล.ผาเมือง ระบุด้วย ปัจจุบันได้มีการเพิ่มเติมกำลังพลเข้าไปสกัดกั้นการลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนอีกจำนวน 80 นาย และจะประสานกับทุกภาคส่วนเพื่อใช้มาตรการคุมเข้มตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะให้คนไทยที่ตกค้างอยู่ใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามได้กลับเข้ามารับการตรวจหาเชื้อตามมาตรฐานสาธารณสุขด้วยช่องปกติที่ด่านพรมแดนดังกล่าว
เชื่อว่าการปรับตัวของหน่วยความมั่นคง "กองทัพ" น่าจะนำไปสู่การสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และมีประสิทธิภาพ โดยปรับแผนการวางกำลังทหารตามแนวชายแดน บูรณาการร่วมกับตำรวจ ตชด.ฝ่ายปกครอง เพื่อทำการลาดตระเวนถี่ขึ้น โดยงมุ่งไปยังจุดบอด "ช่องทางธรรมชาติ" นั่นเอง.
ผู้เขียน : คชสีห์ 88
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun