สื่อนอกแฉอาการป่วย “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจแย่กว่าที่คิด หลังหัวหน้าคณะทำงานทำเนียบหลุดปาก สัญญาณชีพจรของผู้นำสหรัฐฯ ถือว่าน่าวิตก รอลุ้นใน 48 ชั่วโมง ขณะที่ “ทรัมป์” อัดคลิปลงทวิตเตอร์สวนทันควัน ยืนยันรู้สึกดีขึ้นมาก แต่ไม่วายทิ้งปริศนาให้รอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น และยังเชื่อมั่นในยาที่มี ส่วนไทย ปลัด อว. เผยใกล้มีข่าวดี อาจได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิดปลายปีนี้ สำหรับกลุ่มเสี่ยงภายในประเทศราว7พันคน และภายในปี 2564 จะมีวัคซีนโควิดสำหรับคนไทยครึ่งประเทศ เชื่อไทยจะได้รับวัคซีนเป็นประเทศแรกๆของโลกจาก 3 ปัจจัย “รับเทคโนโลยีมาผลิตเอง-นำเข้าวัคซีน-ให้ทุนหนุนการผลิตวัคซีนในประเทศ”
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ถึงอาการป่วยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วัย 74 ปี ที่ถูกตรวจพบว่าป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมกับนางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง วัย 50 ปี และถูกส่งเข้ารับการรักษาในศูนย์การแพทย์ทหาร วอลเตอร์ รีด ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่านายมาร์ค มีโดวส์ หัวหน้าคณะทำงานทำเนียบขาว ได้เปิดเผยเป็นการส่วนตัวกับกลุ่มผู้สื่อข่าวว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา สัญญาณชีพจรของผู้นำสหรัฐฯถือว่าน่าวิตกกังวล และภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการรักษา โดยรวมถือว่านายทรัมป์ยังไม่ฟื้นตัว
แหล่งข่าวไม่เปิดเผยนามอีกรายระบุว่า นายทรัมป์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังมีอาการหายใจลำบาก และระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง จนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งสวนทางกับข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า นายทรัมป์อาการดีขึ้นแล้ว แต่หลังการสัมภาษณ์ของนายมาร์ค มีโดวส์ ไม่กี่ชั่วโมง นายมีโดวส์ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า นายทรัมป์แข็งแรงดี และทีมแพทย์พึงพอใจกับสัญญาณชีพจรของผู้นำ ซึ่งรอยเตอร์รายงานด้วยว่า การกลับลำครั้งนี้เกิดจากนายทรัมป์ ไม่พอใจที่นายมีโดวส์ไปให้ข้อมูลนอกรอบกับสื่อมวลชน
...
นอกจากนี้ มีรายงานว่า นายทรัมป์ยังได้เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ เป็นครั้งที่สอง ยืนยันว่าขณะนี้รู้สึกดีขึ้นมาก แต่ในอีก 2-3 วันข้างหน้า จะถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญ โดยในคลิปวิดีโอความยาว 4 นาที นายทรัมป์สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวเปิดคอ สวมแจ็กเกตสีน้ำเงินคลุมทับ และดูเหมือนคนอิดโรย ยังกล่าวด้วยว่า สภาพร่างกายไม่ค่อยดีเท่าไร และต้องมารอดูกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เรามียาที่เสมือนปาฏิหาริย์จากพระเจ้า
ขณะที่คณะแพทย์ที่ให้การดูแลรักษา นำโดย นายแพทย์ฌอน คอนเลย์ หมอประจำตัวนายทรัมป์ เปิดเผยว่า ผู้นำสหรัฐฯไม่มีปัญหาในเรื่องการหายใจ และไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจน โดยรวมถือว่าอาการดีขึ้นมาก ทั้งนายทรัมป์ยังพูดว่าพร้อมจะกลับไปทำงานที่ทำเนียบขาว อยากเดินไปเองเลยวันนี้ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่านายทรัมป์จะออกจากโรงพยาบาลได้เมื่อไร ทางทีมแพทย์กลับปฏิเสธที่จะให้คำตอบ
ทั้งนี้ นอกจากทรัมป์และภรรยาที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว บุคคลรอบตัวผู้นำสหรัฐฯที่ถูกตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 มีทั้ง น.ส.โฮป ฮิกส์ ที่ปรึกษาคนสนิท นางแคลลีแอน คอนเวย์ อดีตที่ปรึกษา นางรอนนา แม็คเดเนียล ประธานคณะกรรมการพรรค รีพับลิกัน นายคริส คริสตี อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์และที่ปรึกษาฝ่ายหาเสียง นายบิล สตีเปียน ผู้จัดการทีมหาเสียง นายไมค์ ลี ส.ว.รัฐยูทาห์ นายธอม ทิลลิส ส.ว.รัฐนอร์ทแคโรไลนา ส่วนนายโจ ไบเดน ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อ แม้ร่วมเวทีโต้วาทีกับนายทรัมป์
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก โดยรวมยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกในวันเดียวอยู่ที่ประมาณ 300,000 คน ส่งผลให้ยอดรวมได้เพิ่มเป็น 35.2 ล้านคน เสียชีวิตรวม 1.03 ล้านคน โดยที่สหรัฐฯ จุดศูนย์กลางแพร่ระบาดอันดับ 1 ของโลก พบผู้ติดเชื้อในวันเดียวกว่า 48,500 คน ยอดติดเชื้อรวมกลายเป็น 7.6 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 214,200 คน ตามด้วยอันดับ 2 อินเดีย พบผู้ติดเชื้อในวันเดียว 75,829 คน ติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 6.55 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 1.02 แสนคน และอันดับ 3 บราซิล พบผู้ติดเชื้อในวันเดียว 24,602 คน ติดเชื้อรวมขยับเป็น 4.9 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 146,000 คน
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสองในยุโรปยังคงรุนแรง โดยที่ฝรั่งเศสพบผู้ติดเชื้อในวันเดียวทำสถิติ 16,972 คน เพิ่มจากวันก่อนกว่า 5,000 คน ส่งผลให้ยอดติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 606,625 คน เสียชีวิตรวมกว่า 33,000 คน ที่อังกฤษพบผู้ติดเชื้อในวันเดียวทำสถิติ 12,872 คน เพิ่มจากวันก่อนกว่า 5,900 คน ทำให้ยอดติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 480,017 คน เสียชีวิตรวมกว่า 42,300 คน ส่วนที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรวมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พบผู้ติดเชื้อในวันเดียว 3,190 คน ยอดติดเชื้อรวมกลายเป็น 322,497 คน เสียชีวิตรวม 5,776 คน ตามด้วยอินโดนีเซีย ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 299,506 คน เข้าใกล้ยอด 300,000 คนไปทุกขณะ เสียชีวิตรวม 11,055 คน
ส่วนในไทย นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ว่า ช่วงประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีนโรคโควิดใช้สำหรับกลุ่มเสี่ยงภายในประเทศประมาณ 7 พันคน และภายในปี 2564 จะมีวัคซีนโควิดใช้สำหรับคนไทยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ถือว่าคนไทยครึ่งหนึ่งของประเทศจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และหลังจากนั้นจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพื่อให้มีวัคซีนจำนวนมากเพียงพอ ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับการฟื้นฟูประเทศ โดยระหว่างนี้ ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างคู่ขนานกัน 3 แนวทาง คือ 1.การรับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วจากต่างประเทศ เพื่อให้ผลิตได้เพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ 2.การนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศผ่านการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกๆของโลกที่จะได้รับวัคซีน เนื่องจากไทยมีระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่เข้มแข็ง สามารถควบคุมและรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ชื่นชมของหลายประเทศทั่วโลก และ 3.การให้ทุนสนับสนุนการผลิตวัคซีนภายในประเทศ ทั้ง 3 แนวทางในการแก้ปัญหา โควิด-19 เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนเป็นประเทศแรกๆของโลก
...
ปลัด อว.กล่าวอีกว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ของไทยยังคงอยู่ในระยะก่อนการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งกำลังเร่งผลักดันให้เริ่มต้นทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยคาดว่าจะแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามช่วงอายุ กลุ่มแรกคือ อาสาสมัครอายุ 18-60 ปี จำนวน 75 คน โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ก่อนที่จะทดสอบให้กลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุ 61-80 ปี อีก 75 คน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ต่อไปตามลำดับ
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ว่าวันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 2 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 3,585 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,445 ราย มาจากต่างประเทศ 1,140 ราย หายกลับบ้านรวม 3,388 ราย ยังรักษาใน รพ. 138 ราย เสียชีวิตรวม 59 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานที่กักกัน ได้แก่ 1.อังกฤษ 1 ราย เป็นนักศึกษาหญิงไทย อายุ 27 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 28 ก.ย.เข้าพักในสถานที่กักกันของรัฐใน จ.สมุทรปราการ ตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 2 ต.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ 2.แอฟริกาใต้ 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 19 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 28 ก.ย.เข้าพักในสถานที่กักกันของรัฐใน กทม. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 2 ต.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ จากการสอบสวนประวัติพบว่า ผู้ป่วยอยู่โรงเรียนประจำพักในหอพักห้องละ 4 คน ไม่ได้ออกไปข้างนอกโรงเรียน สวมหน้ากากอนามัยตลอด ยกเว้นช่วงที่มีการละหมาดวันละ 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมละหมาด 200-250 คน และไม่มีการเว้นระยะห่าง
...
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในเอเชีย และอาเซียน ณ วันที่ 4 ต.ค. อินเดียยังรั้งอันดับ 1 ในเอเชีย มีผู้ติดเชื้อรวม 6,547,413 คน ติดเชื้อรายใหม่กว่า 7.5 หมื่นคน ตายเพิ่ม 937 คน ยอดตายรวมกว่า 1 แสนคน ตามด้วยอันดับ 2 บังกลาเทศ มีผู้ติดเชื้อรวม 367,565 คน เป็นรายใหม่กว่า 1.1 พันคน ตายเพิ่ม 20 คน รวมตายกว่า 5.3 พันคน อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ ติดเชื้อเพิ่มอีกกว่า 2.6 พันคน รวมติดเชื้อ 319,330 คน ตายเพิ่มอีก 62 คน รวมยอดตายกว่า 5.6 พันคน อันดับ 4 ปากีสถาน ติดเชื้อเพิ่ม 553 คน รวมติดเชื้อ 313,984 คน ตายเพิ่ม 8 คน รวมยอดตายกว่า 6.5 พันคน อันดับ 5 อินโดนีเซีย ติดเชื้อรายใหม่ 4 พันกว่าคน รวมติดเชื้อ 299,506 คน ส่วนเมียนมาสถานการณ์ก็ยังย่ำแย่ เมื่อพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 978 คน ทำให้ยอดติดเชื้อรวมอยู่ที่กว่า 1.6 หมื่นคน เสียชีวิตเพิ่มอีก 18 คน ยอดตายรวม 371 คน ส่วนมาเลเซีย ติดเชื้อเพิ่ม 317 คน รวมติดเชื้อกว่า 1.2 หมื่นคน ตายเพิ่ม 1 คน รวมตาย 137 คน สิงคโปร์ ติดเชื้อเพิ่ม 6 คน รวมติดเชื้อกว่า 5.7 หมื่นคน ไม่มีตายเพิ่ม ส่วนเวียดนาม กัมพูชา บรูไนและลาว เป็น 4 ชาติในอาเซียนที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เลย
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่ศูนย์แพทย์ชุมชน รพ.บุรีรัมย์ สาขา 3 (อบจ.เก่า) ว่า หากจะมีมาตรการเปิดประเทศในรูปแบบนิวนอร์มอล จะต้องมีการอนุมัติโดย ศบค.ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลในเชิงสนับสนุน ว่าเมื่อมีความปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนกลับมาทำมาหากินได้ มาใช้ชีวิตการจ้างงานเหมือนปกติให้มากที่สุด จะทำข้อมูลเสนอให้ ศบค.ตัดสินใจ และสามารถตอบคำถามข้อสงสัย หรือข้อกังวลใดๆได้ ส่วนเรื่องความพร้อมในการให้บริการสถานพยาบาล เรื่องของยา เรื่องความเข้าใจ ความรอบรู้ของบุคลากรในโรคโควิด-19 หาก ศบค.จะเปิดประเทศ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็พร้อม โดยขอความร่วมมือประชาชนว่าอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย อย่าลืมล้างมือ
...