ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกมายอมรับสถานการณ์น้ำโดยรวมของประเทศปีนี้น่าห่วง…โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา น่ากังวลเป็นยิ่งนัก
เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ 141,489 แห่ง เก็บน้ำไว้ได้แค่ 52% ของปริมาณการกักเก็บ และยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 105 แห่ง อยู่ในสถานะต้องเฝ้าระดับ เพราะมีปริมาณน้ำให้ใช้การได้ต่ำกว่า 30%
ที่ผ่านมา แม้ว่าอิทธิพลของพายุซินลากู ร่องมรสุม และพายุโนอึล จะมาช่วยเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลัก ภูมิพล, สิริกิติ์, แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ที่คอยป้อนน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ได้ถึง 2,600 ล้าน ลบ.ม.
แต่ปริมาณน้ำที่ได้มารวมกับน้ำที่มีอยู่เดิม เรามีปริมาณน้ำให้ใช้การได้ประมาณ 4,500 ล้าน ลบ.ม. หรือแค่ 24% เท่านั้น
จากสถานการณ์ตรงนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนตุลาคม 2563 เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นำไปใช้บริหารจัดการน้ำ กำหนดมาตรการก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง 1 พฤศจิกายน 2563
เพราะ 4 เขื่อนหลักหล่อเลี้ยงลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวในฤดูแล้งหรือทำนาปรัง จำเป็นจะต้องวางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 อย่างรอบคอบ
โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตรต่อเนื่องเท่านั้น ที่มีความต้องการใช้ขั้นต่ำวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้เพื่อการเตรียมแปลงปลูกพืชช่วงต้นฤดูฝน และใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงในปี 2564 อีกด้วย
เพราะปัจจุบันฝนไม่ได้ทิ้งช่วงแค่ 1–2 สัปดาห์อีกแล้ว...ทิ้งช่วงนานเป็นเดือน บางปีหลายเดือน.
...
สะ-เล-เต