กรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อยๆ 2 ชุดที่เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา มาชี้แจง ได้แก่กรรมาธิการตำรวจและกรรมาธิการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษชน ตัดประเด็นว่าใครเป็นกรรมาธิการบ้าง ฝ่ายไหน ฝ่ายค้านหรือรัฐบาลออกไป คัดเนื้อๆออกมาแล้ว หลังจากที่เชิญผู้เกี่ยวข้อง อาทิ เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้องคดี เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานที่เกี่ยวกับความเร็วรถ ทนายความของ บอส ที่ขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่และพยานบุคคลที่อ้างอิงถึงทั้งเก่าทั้งใหม่
ผลสรุปก็คือ มีการสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างถูกต้องหรือไม่ ความบกพร่องในการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้เป็นอย่างไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งมีรายละเอียดทางกฎหมายมากมาย เพราะกฎหมายไทย ดิ้นได้ ตลอดเวลา จะยื่นพยานหลักฐานใหม่เพื่อขอให้พลิกคดีกันกี่ครั้งกี่หน จะมีพยานใหม่ พยานเก่า น่าเชื่อถือไม่น่าเชื่อถือ การสั่งไม่ฟ้องเป็นอำนาจของใคร ถูกต้องหรือไม่ จะไล่เบี้ยความรับผิดชอบเอากับผู้บริหารสูงสุด อาทิ ผบ.ตร. หรือ อัยการสูงสุด หรือจะไปตามหาต้นตอของเรื่องนี้จากกรรมาธิการชุดเก่าๆที่รับพิจารณาเรื่องนี้เป็นรุ่นแรกๆได้อย่างไรแค่ไหน อันที่จริงมีระเบียบวิธีพิจารณาคดีอาญากำหนดเอาไว้ชัดเจน
ข่าวแนะนำ
ขึ้นอยู่กับว่าจะอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเป็นคุณเป็นโทษอย่างไร
และในที่สุด คณะกรรมการที่นายกฯตั้งขึ้นมามี วิชา มหาคุณ เป็นประธาน จะสรุปคดีนี้ออกมาอย่างไร ก็เป็นเพียงข้อมูลรายละเอียดที่นำเสนอ นายกฯ แต่ในท้ายที่สุดแล้ววิธีพิจารณาความคดีอาญาก็ยังขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของ พนักงานสอบสวนและอัยการสูงสุด อยู่ดี
มาตรการต่างๆทั้งในชั้นกรรมาธิการและคณะกรรมการทั้งหลาย อย่างมากก็เป็นการหาความจริง เป็นการหาข้อมูลการรับสินบน เป็นมาตรการกดดันทางสังคม ไม่สามารถจะชี้ผิดชี้ถูกได้
เพียงแต่อยู่ในชั้นของการรวบรวมพยานหลักฐานใหม่ นั่นก็คือ มีเรื่องของยาเสพติดและความเร็วรถ ที่มีการกลับคำให้การของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องใหม่ ส่วนคดีจะมีการตัดสินอย่างไร จะส่งฟ้องหรือยืนยันที่จะสั่งไม่ฟ้อง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกระบวนการยุติธรรม
บทเรียนจากกรณีนี้ ก็คือ กระบวนการทางสังคม ที่จะนำไปสู่ ความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องของ นิติรัฐแบบปลอมๆ แต่เป็นความชัดเจนของกระบวนการทางสังคมที่ออกมาทวงถามความยุติธรรม
เรื่องของการสืบสวนสอบสวนระหว่าง อัยการ กับ ตำรวจ ในฐานะพนักงานสอบสวน เลยไปจนถึงศาลยุติธรรม เคยมีความเคลื่อนไหวที่จะให้แก้ไขหลายครั้ง โดยเฉพาะวิธีการและอำนาจในการสืบสวนสอบสวนระหว่างอัยการกับตำรวจ แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง
อันที่จริง เราลืมความสำคัญของกระบวนการสืบสวนสอบสวนไปอีกส่วนที่สำคัญ นั่นคือ ทนายความ ที่จะให้ความเป็นธรรมและความชัดเจนถูกต้องในสำนวนคดี ทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้เสียหาย เมื่อเรียนตำรามาเล่มเดียวกัน ครูเดียวกัน ก็ควรจะนำมาคานอำนาจกันให้เกิดความสมดุลในกระบวนการยุติธรรม เสียตั้งแต่ต้นน้ำ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th