สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ และเชื่อว่าหลายท่านน่าจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเคยเป็นเจ้าหนี้ หรือเคยเป็นลูกหนี้
ถ้าการยืมเงินกันจบลงได้ด้วยดี ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์อันงดงามน่าประทับใจ เป็นบุญคุณที่ไม่อาจลืมได้ บางเคสเจ้าหนี้โหด ก็สร้างความลำบากให้กับลูกหนี้ที่หาเช้ากินค่ำ แต่บางเคสก็สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ฝ่ายเจ้าหนี้ใจดีเป็นอย่างมาก ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย กินหรู อยู่สบาย ใช้ของแบรนด์เนม เหยียบย่ำหัวใจเจ้าหนี้อย่างมาก
วันนี้มีประสบการณ์ดีๆ ที่เคยมีคำพิพากษาฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้ เกี่ยวกับการยกหนี้ให้ลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้อาจจะทำไป เพราะต้องการประชดประชันลูกหนี้ แต่ลูกหนี้กลับนำข้อความนั้น ไปใช้ต่อสู้คดีในศาล จนมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า
"กรณีที่เจ้าหนี้ยกหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยส่งข้อความผ่าน Facebook ถือเป็นหลักฐานในการปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ตามกฎหมาย"
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย
ประกอบกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7, 8, 9 แม้ข้อความจะไม่มีการลงลายมือชื่อเจ้าหนี้ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วย ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้

...
อ้างอิง คำพิพากษาฎีกา 6757/2560 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟซบุ๊กถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
สุดท้าย การให้กู้ยืมเงิน เป็นเรื่องปกติของคนที่ทำธุรกิจ หรืออาจจะเป็นเพราะความเกรงใจ ความสนิทกัน หรือเพราะความใจดีก็ตาม ควรคำนึงถึงอนาคตด้วยว่า ถ้าลูกหนี้ไม่มีเงินจ่าย หรือหากข้อเท็จจริงที่ลูกหนี้เอามาอ้างว่า จะมีหนทางชำระหนี้ได้นั้น ไม่เป็นความจริง อนาคตคุณจะทำอย่างไร ทางออกที่ดีควรมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และมีหลักประกัน เช่น ทรัพย์สิน หรือบุคคลค้ำประกันด้วยยิ่งดี จะเป็นการลดความเสี่ยงครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk