ยังไม่จบลงง่ายๆ คดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหาขับรถยนต์คันหรูชน ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ป.สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2555 กับกระแส “สังคมออนไลน์” ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม
ใช้เวลาสอบสวนนานกว่า 8 ปี กลับเอาผิดผู้ต้องหาไม่ได้ หลายข้อหาสั่งฟ้องผู้ต้องหาไม่ทัน อัยการสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจเห็นด้วยไม่เห็นแย้ง ทั้งที่ตำรวจในเครื่องแบบถูกชนแล้วลากเสียชีวิตบนถนน
คนส่วนใหญ่ที่เห็นภาพเหตุการณ์บอกว่า ไม่ใช่แค่ขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่เป็นเรื่อง “ชนแล้วหนี” คนที่ถูกชนเป็นตำรวจขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ แต่ในทางคดีเริ่มต้นพยายามเบี่ยงเบน ใช้ผู้อื่นรับผิดแทน คดีล่าช้าอยู่ในชั้นตำรวจถึง 8 ปี เห็นถึงความผิดปกติในคดีตั้งแต่ต้นยันจบ สังคมย่อมมีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัยผู้ที่รับผิดชอบ
นักวิชาการ นักกฎหมาย แสดงความห่วงใยการที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี เป็นเรื่องร้ายแรง สะท้อนถึงปัญหาเหลื่อมล้ำกระบวนการยุติธรรม และยิ่งตอกย้ำ “คุกมีไว้ขังคนจน” คนรวยหลุดรอดเพราะมีเส้นสายวิ่งเต้น

...
ทันทีที่ข่าวเปิดเผยขึ้นมาจากสื่อต่างประเทศ ทำเอาตำรวจและอัยการอยู่ไม่ได้ ต้องเร่งออกมาชี้แจง แม้แต่รัฐบาลบอกไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ก้าวล่วงการสั่งคดีของตำรวจและอัยการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคดี อัยการสูงสุดตั้งรองอัยการสูงสุดและอัยการอีก 7 นาย พิจารณาการสั่งคดีของอัยการเจ้าของสำนวน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ตั้ง พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องคดี
กรรมาธิการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร เรียกตำรวจและอัยการชี้แจงกับคำถามที่คาใจในสำนวนคดี ไม่ว่าจะเป็นประเด็นขับขี่รถเร็วที่เจ้าของคดีเชื่อนายบอส ขับไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งที่ขัดกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และภาพวงจรปิด
พยาน 2 ปากที่โผล่มาอยู่ในสำนวนมองแล้วไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ประเด็นใหม่ตรวจสารโคเคนในร่างกายนายบอส รวมทั้งคำถามสำคัญที่ว่า ลูกน้องตำรวจตายในเครื่องแบบ แต่ ทำไมการควบคุมสำนวนคดีนี้ผิดปกติ ปล่อยให้คดีขาดอายุความหลายเรื่อง และหลักฐานในสำนวนหยิบเข้าหยิบออกจนทำให้คดีผิดไป
เป็นคำถามที่ตัวแทนตำรวจมาชี้แจงถูกไล่จี้ถามแทบจะไปต่อไม่ได้
มีหลายเรื่องที่บังเอิญในคดีนี้ นายจารุชาติ มาดทอง พยานใหม่ปากคำสำคัญ ถูกรถ จยย.เฉี่ยวชนเสียชีวิตที่ จ.เชียงใหม่ พยานที่มียศ พล.อ.ท.มาให้การภายหลัง เพราะสงสารนายบอสที่อายุไล่เลี่ยกับลูกชาย
น่าแปลกคนทำสำนวนคดีเชื่อพยานใหม่ 2 ปาก แต่คนทั้งประเทศกลับไม่เชื่อถือเลย

ยิ่งมาเห็นการแถลงข่าวของตำรวจน่าเจ็บใจแทนลูกน้องตำรวจที่เสียชีวิต อ้างการไม่เห็นแย้งสั่งคดีอัยการเป็นเรื่องปกติ ตำรวจไม่มีอำนาจไปเห็นแย้ง ก้าวล่วงความเห็นของอัยการ กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นแบบนี้แล้วหรือ จะมีกฎหมาย ป.วิอาญา เรื่องการถ่วงดุลและ การคานอำนาจในกระบวนการยุติธรรมไว้ทำไม
ถ้าเป็นแบบนั้น ตำรวจเป็นได้แค่ “ตรายาง” รับสำนวนมาจากอัยการแล้วส่งต่อผ่านไป
ประเด็นสารเสพติดโคเคนที่พบในร่างกายที่อ้างผลตรวจแพทย์ว่าเป็นสารที่ทันตแพทย์ใช้รักษาฟันเป็นประเด็นชั่วข้ามคืน หมอฟันชี้แจงว่าเลิกใช้สารมา 150 ปีแล้ว สุดท้ายตำรวจแถลงอีก ไม่มีประเด็นนี้เป็นการเข้าใจผิด ทั้งที่คดีนี้มีคนในสังคมไทยเฝ้ารอฟังคำตอบจากผู้ที่มีส่วนทำคดียิ่งพูดยิ่งออกทะเล ยิ่งทำให้คนสับสน
ส่วนคณะกรรมการอัยการชี้แจงระบุว่าผลตรวจสอบความเห็นและคำสั่งของอัยการเป็นไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน และสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามอำเภอใจ
หลังมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้วได้เสนอสำนวนให้ ผบ.ตร.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อพิจารณา เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ
คณะกรรมการอัยการสรุปว่า การสั่งคดีของอัยการเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ
ชี้ว่า การดำเนินคดีกับนายวรยุทธหรือบอส แม้คดีนี้มีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องในข้อหา “ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย” แต่มิได้หมายความว่าจะทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว คณะทำงานตรวจพบว่าคดียังไม่ถึงที่สุด มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษได้
...

เห็นว่าสำนวนสอบสวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธวันเกิดเหตุ และพบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคเคน ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และตำรวจไม่แย้งสั่งไม่ฟ้อง เป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมายและห้ามมิให้ทำการสอบสวนอีก
ปรากฏพยานหลักฐานสำคัญคือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลางของตำรวจ ที่ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ร่วมตรวจที่เกิดเหตุและดูกล้องวงจรปิด พร้อมคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุให้กองพิสูจน์หลักฐานใช้ประกอบคดี
ยืนยันว่า รถของนายบอสแล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวน ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147
...
ทั้ง 2 ประเด็นถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ คณะทำงานจึงมีความเห็นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา และอัยการสูงสุดเห็นชอบให้แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธ
คำชี้แจงของอัยการทำให้สังคมเริ่มมีความหวังว่า หากนายบอสทำความผิดจริง กฎหมายลงโทษได้ ที่เป็นคำถามกระบวนการยุติธรรมไทย หากไม่มี “สื่อออนไลน์” และ “สื่อมวลชน” ออกมากดดัน คดีนี้คงจบไปแล้ว หากคนทำสำนวนขาด “จิตสำนึก” ต่อหน้าที่ ย่อมจะเกิดปัญหาข้อสงสัยในการทำคดี
ขนาดคดีนี้อยู่ในความสนใจของสังคมตั้งแต่ต้น เพราะมีตำรวจชั้นผู้น้อยเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ มีพยานหลักฐานประกอบการดำเนินคดีผู้ต้องหาแต่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง ตำรวจไม่แย้ง ผู้ต้องหาพ้นผิด
บทสรุปคดี “ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง” สังคมเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำผิด และเล่นงานผู้ที่ทำให้สำนวนคดีผิดปกติ ยิ่งถ้าพบ “จงใจ” เพื่อสิ่งใดก็ตาม สมควรถูกลงโทษเด็ดขาด ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างคนอื่น
ถึงจะเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมกลับคืนมาได้บ้าง
อย่าประมาท และ “มองข้าม” กับความรู้สึกของคนในสังคม.
ทีมข่าวอาชญากรรม