อีกโรคจากเชื้อราที่มักจะระบาดรุนแรงในช่วงหน้าฝน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสง ให้เฝ้าระวัง โรคโคนเน่าขาว หรือ โรคลำต้นเน่า ที่เกิดเชื้อรา Sclerotium rolfsii
สามารถพบได้ในระยะออกดอกไปจนถึงระยะติดฝัก
อาการเริ่มแรกจะพบยอด กิ่ง และลำต้น ของถั่วลิสงเหี่ยวและยุบเป็นหย่อมๆ ส่วนบริเวณโคนต้นเหนือดินจะพบแผลสีน้ำตาลและเส้นใยสีขาวหยาบของเชื้อราสาเหตุโรค จากนั้นเส้นใยของเชื้อจะรวมตัวเป็นเม็ดเล็กสีขาว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำคล้ายเมล็ดผักกาด จากนั้นต้นจะแห้งและตายในที่สุด
หากพบต้นที่เป็นโรคให้ถอนต้น และขุดดินบริเวณที่พบนำไปทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นรดดินในหลุมและบริเวณใกล้เคียงด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช คาร์บอกซิน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลโคลฟอสเมทิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีไตรไดอะโซล 24% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน 6% + 24% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ราดรดทุก 5 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง
และหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรทำลายซากต้นถั่วลิสงด้วยการไถกลบให้ลึกพลิกหน้าดินตากแดด จากนั้นใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ก่อนปลูกเพื่อปรับสภาพดิน และควรจัดระยะปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แสงแดดส่องถึง อีกทั้งแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี
กรณีในแปลงที่พบการระบาดของ โรค เกษตรกรควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด เป็นต้น อีกทั้งควรล้างทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ทางการเกษตรต่างๆให้สะอาด โดยการผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งอยู่เสมอ เมื่อได้นำไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป.
...
สะ–เล–เต