เมื่อเร็วๆนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเล 2 แห่ง คือ สะพานข้ามทะสาบสงขลา เชื่อมการเดินทางจังหวัดสงขลา-พัทลุง และสะพานข้ามทะเลอันดามัน เชื่อมแผ่นดินใหญ่เกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ ขณะนี้ทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EIA)
รายละเอียดแต่ละโครงการเป็นอย่างไรนั้น “รายงานวันจันทร์” ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากอธิบดีกรมทางหลวงชนบท “ปฐม เฉลยวาเรศ” ดังนี้
ถาม ที่มาสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา
ปฐม เนื่องจากปัจจุบันมีการเดินทางระหว่างจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดสงขลาจำนวนมาก แต่ตลอดแนวทะเลสาบสงขลามีสะพานอยู่เพียง 2 แห่ง ได้แก่ สะพานชะแล้ ตั้งอยู่ด้านล่างของทะเลสาบ เชื่อมต่ออำเภอสิงหนคร สงขลา กับอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง และสะพานไสกลิ้ง-หัวป่า ตั้งอยู่ด้านบนของทะเลสาบ เชื่อมต่ออำเภอระโนด สงขลา กับอำเภอควนขนุน พัทลุง โดยสะพานทั้ง 2 แห่ง มีระยะทางห่างกัน 60 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ตรงกลางของทะเลสาบ ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง หรือใช้แพขนานยนต์ซึ่งมีความล่าช้า ประชาชนในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน พัทลุง และอำเภอกระแสสินธุ์ สงขลา ได้เรียกร้องให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบเพิ่มอีก 1 แห่ง อยู่ตรงกลางระหว่างสะพานปัจจุบัน
...
เบื้องต้นได้ออกแบบเป็นสะพาน ให้มีระดับความสูงกว่าสะพานไสกลิ้ง เพื่อให้เรือขุดลอดผ่าน ขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ ระยะทาง 6 กิโลเมตร เชื่อมตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ สงขลา ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน พัทลุง การศึกษาจะแล้วเสร็จกลางปี 2564 และปี 2565 จะเสนอของบประมาณคาดว่าจะก่อสร้างได้ปี 2566 ทั้งนี้ หากการก่อสร้างสะพานดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะการเดินทางได้มากกว่า 80 กิโลเมตร ลดระยะเวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมง
ถาม ที่มาทางเชื่อมแผ่นดิน-เกาะลันตา
ปฐม ก่อนหน้านี้ ทช.ก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ ส่วนการเดินทางจากแผ่นดินใหญ่ ข้ามไปยังเกาะลันตาน้อยใช้แพขนานยนต์ แต่เนื่องจากแพบรรทุกรถยนต์ได้น้อย ทำให้แถวคอยยาวประมาณ 2 กิโลเมตร และต้องใช้เวลาข้าม 1-2 ชั่วโมง ประกอบกับเกาะลันตาใหญ่ เป็นสถานที่ตั้งหน่วยงานราชการและแหล่งท่องเที่ยว ทช.จึงเห็นถึงความจำเป็นของการสร้างทางเชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะลันตาน้อย
อย่างไรก็ตาม มติคณะกรรมการเกาะลันตาไม่อยากให้เชื่อมแผ่นดินกับเกาะลันตา เกรงว่าจะทำลายเสน่ห์การท่องเที่ยว จึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอดเทคนิคใหม่ เรียกว่า immersed tube โดยทำท่อสำเร็จเป็นช่วงๆบนดินแล้วนำไปจมที่ไซต์งาน ราคาถูกกว่าแบบเจาะ มีความปลอดภัย ประเทศไทยเคยออกแบบไว้ปี 2539 เพื่อลอดทะเลสาบสงขลา เชื่อมอำเภอแหลมสนอ่อน กับอำเภอสิงหนคร แต่ติดปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงถูกยกเลิกไป หรือก่อสร้างเป็นสะพานแขวนแบบโกลเดนต์เกตแห่งแรกของไทย ส่วนจะเลือกรูปแบบใดนั้น ต้องรอผลการศึกษาอีกครั้ง คาดว่าก่อสร้างได้ปี 2566.