เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจกรณีสื่อต่างประเทศเสนอข่าว อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทุกข้อหา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งของอัยการ
ทำให้คนไทยข้องใจในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ทุกคนเสียความรู้สึกกับคำตัดสินคดี ตำรวจเสียชีวิตทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ แต่สุดท้ายกฎหมายลงโทษใครไม่ได้ ผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับเพิกเฉย ไม่เห็นแย้ง ไม่เคยเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ลูกน้อง กลับปล่อยปละละเลย สุดท้ายปล่อยผู้ต้องหารอดพ้นผิดทุกข้อหา
การสั่งคดีของอัยการและตำรวจ ซึ่งอ้างถูกต้องขั้นตอนครบถ้วนจริงหรือไม่ ที่สำคัญเป็นสื่อต่างประเทศที่นำสำนวนคดีมาเปิดเผย ทำไมปกปิด เกิดคำถามขึ้นในสังคมไทย คนส่วนใหญ่ระบายออกมาในช่องสื่อออนไลน์ที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมไทย

ข้อเท็จจริงที่เกิดกับรายละเอียดที่ถูกบันทึกไว้ในสำนวนสอบสวนคือเรื่องเดียวกันหรือไม่ แต่คดีนี้เป็นกระแสสังคมกดดันหนัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งให้สอบสวนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
หากย้อนคดีที่เกิด 8 ปีมาแล้ว เหตุเกิดวันที่ 3 ก.ย.2555 นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ขับรถยนต์หรูชนรถ จยย. ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ แต่ไม่ได้หยุดรถทำให้ลากร่าง ด.ต.วิเชียร ในชุดเครื่องแบบจากจุดที่ชนกว่า 200 เมตร จนถึงแก่ความตาย คนขับรถหลบหนีทันที
ตำรวจติดตามภาพกล้องวงจรปิดพบว่า นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา คนขับรถคันที่ก่อเหตุหลบหนีไปอยู่ที่บ้านพักและทราบว่าพ่อบ้านนายวรยุทธ รับสมอ้างเป็นคนขับรถแทน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ในขณะนั้นไม่เชื่อลงพื้นที่ด้วยตนเอง ขอหมายศาลค้นบ้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ประกาศชัดเจนวันนั้นเลยว่า “จะใหญ่แค่ไหน มาชนลูกน้องผมตาย ผมไม่ยอม หากตามจับคนร้ายตัวจริงในคดีนี้ไม่ได้ ผมขอลาออก”
สุดท้ายนายวรยุทธทนกระแสสังคมที่กดดันอย่างหนักไม่ไหว จำนนต่อหลักฐานภาพกล้องวงจรปิดขอมอบตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอประกันตัวทันที ตำรวจรวบรวมหลักฐานแจ้งข้อหาสั่งฟ้อง 4 ข้อหา 1.ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 2.เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ 3.ขับรถในขณะมึนเมา 4.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนเสนอสำนวนต่ออัยการ

อัยการนัดนายวรยุทธครั้งแรกวันที่ 25 เม.ย.2559เจ้าตัวมอบอำนาจทนายความขอเลื่อนให้เหตุผลอยู่ต่างประเทศ อัยการนัดอีกวันที่ 25 พ.ค.2559 แต่ยังไม่เข้ามาพบ อัยการมีหนังสือถึง สน.ทองหล่อ วันที่ 30 พ.ค.2559 ให้ติดตามตัว แต่ตำรวจแจ้งว่านายวรยุทธหรือบอสขอเลื่อนเนื่องจากร้องขอความเป็นธรรมพยานในประเด็นการขับรถเร็วไปที่คณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติอัยการเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงต่อคำสั่งฟ้อง ยืนยันให้มาพบเพื่อส่งฟ้องวันที่ 24 มิ.ย.2559 นายวรยุทธขอเลื่อนไปอีก อัยการให้พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ขออนุมัติหมายจับทันที
ต่อมาปี 2560 ผู้ต้องหาหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จนข้อหา ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อหาเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและข้อหาขับรถในขณะมึนเมา หมดอายุความ ทำให้ผู้ต้องหาไม่ถูกดำเนินคดีทั้ง 3 ข้อหา เป็นครั้งแรกที่มีสื่อต่างประเทศประโคมข่าวว่า ผู้ต้องหาหลบหนีไปใช้ชีวิตสุขสบายอยู่ในประเทศอังกฤษ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ทำไมทางการไทยไม่ได้สนใจติดตามตัวมาดำเนินคดี
พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. สมัยนั้นบอกว่า ได้เรียกพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ นำสำนวนคดีมาพบว่าสำนวนบกพร่องผิดปกติหลายอย่างและแปลกใจที่พนักงานสอบสวนไปเชื่อผู้ต้องหาขณะชนไม่เมา แต่ชนแล้วไปดื่มจนเมา เป็นเรื่องแปลกไม่เคยมีการแจ้งข้อหา “เมาหลังขับ”
จนเรื่องเข้าสู่ ป.ป.ช. วันที่ 25 มิ.ย.มีมติชี้มูลความผิดวินัยอดีต ผบก.น.5 พร้อมนายตำรวจอีก 5 นาย รวมถึงอดีต ผกก.สน.ทองหล่อ ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสอบสวนช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่ให้ถูกดำเนินคดีข้อหาขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด และไม่ออกหมายจับให้ได้ตัวมาส่งพนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนี
ตำรวจเปิดแถลงข่าวใหญ่อ้างว่าแม้ทั้ง 3 ข้อหาหมดอายุความ แต่คดีหลักขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีอายุความ 15 ปี หมดอายุปี 2570 ผู้ต้องหาต้องถูกลงโทษ สังคมเฝ้าฟัง ดูมีความหวัง แต่สุดท้ายคดีพลิกไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่มีการแถลงข่าวคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา จนวันที่ 23 ก.ค.สื่อต่างประเทศต่างออกมาประโคมเป็นข่าวใหญ่ตำรวจได้เพิกถอนหมายจับทุกข้อหา อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.

ข่าวนี้คนไทยในประเทศไม่เคยรับรู้มาก่อน ยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของตำรวจและอัยการเกี่ยวกับคดี ก่อนมีเอกสารหลุดมาจากสื่อต่างประเทศว่า เดิมทีพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ สั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากรองอัยการสูงสุดรับคำร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ต้องหาให้สอบสวนเพิ่มเติม อ้างมีพยานบุคคลใหม่ 2 ปากที่ขับตามหลังรถผู้ต้องหา บอกว่า ด.ต.วิเชียรขับรถ จยย.ตัดหน้ากะทันหัน ส่วนรถผู้ต้องหาขับมาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เป็นเหตุผลที่อัยการหยิบขึ้นมาสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ อ้างหลักฐานไม่มีความชัดเจนในคดีและสำนวนคดีถูกตีกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. มาสั่งคดีแทน ผบ.ตร. เห็นชอบตามคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการและไม่เห็นแย้ง ทั้งที่ก่อนหน้าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา
ต้องยุติการดำเนินคดีกับ บอส อยู่วิทยา ตำรวจต้องถอนหมายจับผู้ต้องหาทุกข้อหา
เนื้อหาเอกสารสำนวนคดีที่หลุดออกมา ยิ่งทำให้เห็นความผิดปกติของคดี ซึ่งก่อนหน้า ถูกดึงและดองมานาน คดีผ่านไป 8 ปี ทำไมอัยการและตำรวจจึงเชื่อคำให้การพยานใหม่ ทั้งที่ตอนเกิดเหตุไม่มาเป็นพยานและหลักฐานคดี “เมาแล้วขับ” ซึ่งเป็นหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือ กลับถูกมองข้าม ทั้งที่อยู่ในสำนวนคดี
มีความสงสัยกันไหมว่า พยานใหม่ทั้ง 2 คนเป็นใคร เรื่องนี้สืบไม่ยาก ที่สำคัญวันเกิดเหตุมีทั้งภาพคลิปเหตุการณ์ตรวจสอบได้ว่าพยานอยู่ในที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่สวนความเป็นจริงกับภาพกล้องวงจรปิดบันทึกภาพรถผู้ต้องหาที่ขับมาด้วยความเร็ว และมีผลตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ประกอบไว้ในสำนวนคดีตั้งแต่แรก
คนที่ได้อ่านสำนวนคดีแล้วยังชวนสงสัย คนที่ทำ “สำนวนคดี” กลับไม่ได้ติดใจเนื้อหา สุดท้ายอัยการและตำรวจทนกระแสสังคมไม่ไหว มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในการสั่งคดี แต่ขณะนี้คดีถือว่าจบสิ้นขั้นตอนคดีแล้ว อัยการสูงสุดยืนยันทำถูกต้องตามขั้นตอน แต่สังคมคนทั่วโลกเฝ้าจับตาคำชี้แจงของทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด
เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมไทย
ก่อนหน้าตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ได้ตำแหน่งเลื่อนสูงขึ้น แม้จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่เป็นการลงโทษสถานเบา แค่ “กักยาม” ซึ่งมีกระแสตำรวจชั้นประทวนที่รับไม่ได้ ต่างจากคดีอื่นๆ หากรัฐบาลเข้าใจควรทบทวนแก้ไขคดี อย่าคิดประมาทกับกระแสสังคมไทยที่แสดงความเห็นออกมา เพราะความรู้สึกที่ไม่มั่นใจกฎหมาย
ขยายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ยากจะควบคุมกันเลย.