เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายธนพร สมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ในฐานะโฆษก สกสค. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ สกสค. ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 200 คน เพื่อมาช่วยฟื้นฟูตามแผนงานของผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.คนใหม่ ซึ่งการอนุมัติจ้างลูกจ้างชั่วคราวในครั้งนี้นั้นจะเป็นพนักงานองค์การค้าของ สกสค.เดิมแต่จ้างด้วยฐานเงินเดือนใหม่ ดังนั้นถือว่าการจ้างครั้งนี้เราจ่ายเงินเดือนจริงตามเงินในกระเป๋าที่องค์การค้าของ สกสค.มีอยู่ โดยการจ้างจะต้องไม่ขาดทุน และทำให้องค์กรเดินหน้าไปได้ด้วยแผนงานใหม่ที่ตอบโจทย์เทคโนโลยีในอนาคต ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้อนุมัติจ่ายเงินก้อนแรกให้แก่ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 951 คน จำนวน 400 ล้านบาทด้วย
“สำหรับประเด็นที่พนักงานจำนวน 651 คน ที่ถูกเลิกจ้างยังคาใจว่ายังไม่มีการจ่ายเงินเดือนของเดือน มิ.ย.นั้น ขอยืนยันว่ามติคณะกรรมการ สกสค.ครั้งนี้ได้มีการอนุมัติจ่ายเงินเดือนพนักงานกลุ่มดังกล่าวที่ยังค้างจ่ายด้วย โดยมีมติจ่ายให้ 75% ตามฐานเงินเดือนของแต่ละคน เพราะที่ผ่านมาเรามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในประเด็นนี้ เนื่องจากบอร์ดบริหารองค์การค้าของ สกสค.ชุดเดิมมีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องจ่ายเงินให้แก่พนักงานทุกคน 75% ตามฐานเงินเดือนของแต่ละคนในกรณีนายจ้างให้หยุดงาน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 จึงคิดว่าต้องมอบการจ่ายเงินนี้ให้แก่ประกันสังคมดำเนินการแทน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ทางประกันสังคมยืนยันกลับมาแล้วว่าเมื่อมีการจ่ายเงิน 75% ตามฐานเงินเดือนไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย. และ พ.ค. องค์การค้าของ สกสค.ก็จะต้องทำแบบเดิมในเดือน มิ.ย.ด้วย ดังนั้นเราจะนำเงินจากองค์การค้าของ สกสค.ที่มีอยู่จ่ายให้ทันที ซึ่งถือว่าไม่มีสิ่งใดติดค้างต่อไป” โฆษก สกสค.กล่าว
...
รองเลขาธิการ สกสค. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังได้หารือถึงโมเดลธุรกิจใหม่ขององค์การค้าของ สกสค. ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราได้ตั้งต้นมาจากการเสนอแผนฟื้นฟูองค์การค้าของ สกสค.จากนายอดุลย์ บุสสา ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. คนปัจจุบัน โดยจะมีการปรับรูปแบบธุรกิจขององค์การค้าของ สกสค.ใหม่ให้เป็นธุรกิจ E-Learning ซึ่ง E-Learning ที่ว่านี้เราจะดำเนินการคู่ขนานกับตำราเรียนที่มีอยู่ เช่น กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เดิมเราใช้หนังสือเรียนเป็นกระดาษ โดยบางคำศัพท์ในกลุ่มวิชานี้ผู้เรียนต้องไปตีความเองจากการเสิร์จหาข้อมูลผ่านกูเกิล ส่งผลให้ความหมายของเนื้อหาเกิดความคลาดเคลื่อน เป็นต้น ดังนั้น E-Learning ที่องค์การค้าของ สกสค.กำลังจะเริ่มดำเนินการจัดทำนี้จะเป็นโปรแกรมที่เด็กนักเรียนสามารถกดหาคำศัพท์หรือเนื้อหาวิชาที่เรียนได้ทันทีอย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐาน ซึ่งจะใช้เรียนควบคู่ไปกับตำราเรียนที่มีอยู่ ทั้งนี้การดำเนินการธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวต้องการให้องค์การค้าของ สกสค.มีสินค้าที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น.