รู้จัก "ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด" โรคใกล้ตัวที่หลายคนเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ คร่าชีวิตอดีตศิลปินชื่อดัง "นาธาน โอมาน" พร้อมแนะวิธีเช็กอาการป่วย และวิธีการป้องกัน
นับเป็นข่าวสุดช็อกของวงการบันเทิงอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีการเผยข่าวการเสียชีวิตของ นาธาน โอมาน อดีตศิลปินชื่อดัง ในวัย 45 ปี หลังจากเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เนื่องจากอาการป่วยด้วยโรคโลหิตจาง และมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น
สำหรับภาวะ "ติดเชื้อในกระแสเลือด" คำนี้หลายคนคงเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ ซึ่งการติดเชื้อจะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกาย ซึ่งเชื้อดังกล่าวได้แก่ จุลชีพต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา จะติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ทางด้าน รศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดว่า เมื่อมีการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือต่อพิษของเชื้อโรค ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบขึ้นทั่วบริเวณของร่างกาย หากมีความรุนแรงมากอาจพัฒนาไปสู่ภาวะช็อกและทำให้การทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ ล้มเหลว มีอันตรายถึงชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ขณะที่ เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือทางบาดแผล เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย โดยมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นมี 3 ปัจจัย ดังนี้
...
1. ความเจ็บป่วย เมื่อร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ ก็จะทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากตับจะเป็นตัวกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้ เชื้อโรคก็จะสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น หรือเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ที่เป็นเบาหวานจะทำให้มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคเสียไป นอกจากนี้ในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากกว่าคนหนุ่มสาวแม้ว่าไม่มีโรคประจำตัว เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ
3. สาเหตุอื่นๆ เช่น การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ได้แก่ การสวนทวาร การสวนปัสสาวะ และการใช้สายสวนหลอดเลือด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
สำหรับลักษณะอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด แบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ
1. อาการเฉพาะที่หรือเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น หากมีอาการไอและเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจ อาจพบว่ามีการติดเชื้อที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด หรือมีอาการปวดหลังและปัสสาวะบ่อย แสดงว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อที่กรวยไต เป็นต้น
2. อาการแสดงทางผิวหนัง เกิดจากการที่เชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือด กระจายมาสู่บริเวณผิวหนัง ทำให้เกิดรอยขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งในบางรอยนั้นอาจมีลักษณะที่ไม่จำเพาะ อย่างเช่นเป็นตุ่มหนองธรรมดา และในบางรอยนั้นมีลักษณะจำเพาะที่สามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ
3. อาการที่เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือเป็นกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย เช่น มีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย มีชีพจรเต้นเร็วขึ้นเกิน 90 ครั้งต่อนาที และหายใจเร็วเกิน 20 ครั้งต่อนาทีเป็นต้น
สำหรับการรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะและอาการของผู้ป่วยเป็นลำดับแรก จากนั้นจะทำการเจาะเลือดและตรวจสิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อด้วยการเพาะหาเชื้อ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน แต่เนื่องด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะฉุกเฉิน แพทย์จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยเบื้องต้นและเลือกให้ยาต้านจุลชีพที่ครอบคลุมเชื้อไว้ก่อน ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้น
แต่ในทางตรงกันข้าม หากได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อหรือได้รับยาช้าเกินไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน เมื่อได้รับยาต้านจุลชีพแล้ว แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปพร้อมๆ กัน เช่น ถ้ามีภาวะไตวายก็ทำการฟอกไต ถ้าผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้ก็จะมีการให้ออกซิเจนหรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือถ้าผู้ป่วยมีภาวะซีดก็จะมีการให้เลือด โดยพิจารณาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด หากทราบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือถ้าติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง สิ่งสำคัญคือเราจะต้องรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมถึงรักษาโรคประจำตัวที่เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี ดูแลในเรื่องของอาหาร การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
...
รวมทั้งรักษาสุขอนามัยกินร้อนช้อนกลาง ล้างมือ หากมีอาการไข้สูง หนาวสั่น หรือมีอาการซึม หายใจเร็วผิดปกติ หรือพบความผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้รีบมาพบแพทย์ และควรหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีเชื้อโรคเยอะ สถานที่แออัด มีการระบายอากาศไม่ดี.
(ขอบคุณ รศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล, เว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล)