นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและ สหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานการวิจัยพันธุ์ข้าวตามนโยบายตลาดนำการผลิตในแปลงใหญ่ วิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร สินค้าต่างๆจากนี้ไปผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกทั้งคุณภาพและราคาที่ซื้อหาได้
โดยเฉพาะข้าว ผลผลิตมีปริมาณลดลง สาเหตุเกิดจากธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ฝนทิ้งช่วง น้ำท่วม สร้างความเสียหาย ส่งผลกระทบกับการทำนา เพื่อให้ชาวนาทำนาข้าวคุณภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กรมการข้าวร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนาปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ให้ตอบรับความต้องการตลาดผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศ
“การผลิตข้าวเพื่อส่งออกจากนี้ไป ไทยจะผลิตตามความพอใจของตัวเองไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่มีความต้องการหลากหลาย ทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวนุ่ม ปี 2561 ไทยเคยส่งออกข้าวได้ 11 ล้านตัน ปี 2562 ลดลงเหลือ 7 ล้านตัน ส่วนในปี 2563 ยังต้องจับตากันต่อไป เพราะต้นทุนการผลิตข้าวไทยที่พูดกันมาเนิ่นนานยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้”
...
นายประภัตร กล่าวต่ออีกว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) มีข้อสรุปถึงแนวทางที่จะช่วยให้ชาวนาปลูกข้าวคุณภาพต้นทุนต่ำกำไรดี ต้องเริ่มจากเมล็ดพันธุ์คุณภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ หากเมล็ดพันธุ์ไม่ดี จะทำให้ผลผลิตได้น้อย ข้าวไม่มีคุณภาพ ซึ่งแต่ละปีชาวนามีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ทั้งพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง (กข) และพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ประมาณ 1.4 ล้านตัน แต่กรมการข้าวไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้อย่างเพียงพอกับความต้องการของชาวนา
“สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่นาเพิ่มมากขึ้น ชาวนาปลูกข้าวหลายครั้งในรอบปี ขณะที่พื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวดูแลมีเท่าเดิม ทางกรมการข้าวจึงได้เสนอ ครม. ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป กรมการข้าวจะผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ 210,000 ตัน หรือ 30% ของความต้องการใช้ ส่วนอีก 70% หรือ 490,000 ตัน จะให้ภาคเอกชนร่วมด้วยช่วยผลิต นอกจากนี้ เกษตรกรควรหันมาปรับสภาพพื้นที่นาให้มีความสม่ำเสมอ เพราะการสำรวจพื้นที่นาทั่วไทย แทบไม่มีความเป็นระเบียบ สภาพพื้นที่นาสูงต่ำไม่สม่ำเสมอ มีทั้งที่ลุ่ม-ที่ดอน ทำให้การจัดการน้ำ การให้ปุ๋ยกระจายไม่ทั่วแปลง ปุ๋ยไหลไปรวมกองเป็นหย่อมๆ ทำให้ต้นข้าวเติบโตไม่สม่ำเสมอ ผลผลิตคุณภาพไม่เท่ากันทั่วทั้งแปลง”.