เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP บริษัทปรับปรุงพันธุ์ยักษ์ใหญ่จะเข้ามาครอบงำตลาด ส่งผลให้เมล็ดพันธุ์ราคาแพงขึ้น...เป็นประเด็นร้อน ที่พูดถึงกันมากในเวทีสัมมนา CPTPP : เกษตรไทยเสียเปรียบจริงหรือ? จัดโดย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย
ในขณะที่วงสัมมนาให้วิธีคิดแบบตรรกะพื้นๆ...การเข้าร่วม CPTPP มีกฎระเบียบและมาตรการจูงใจให้เกิดการแข่งขันผลิตพันธุ์ใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันมีมากเท่าไร การแข่งขันเรื่องคุณภาพและราคาย่อมจะเกิดตามมา เกษตรกรจะได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง
เพราะถ้าพันธุ์ไหนขายราคาแพง เกษตรกรสามารถไปหาซื้อตัวอื่นมาปลูกแทนได้ หรือไม่ก็หันกลับไปปลูกพันธุ์พื้นเมืองได้
ส่วนประเด็นที่ฝ่ายคัดค้านอ้าง เข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติ สามารถนำพืชพันธุ์พื้นเมืองของไทยไปปรับปรุงพันธุ์ แล้วนำกลับมาขายไทยในราคาแพง
ข้อมูลที่ได้จากเวทีสัมมนากลับตรงกันข้าม...เข้าร่วม CPTPP จะทำให้ต่างชาติขโมยพันธุ์พืชไทยไปปรับปรุงพันธุ์เป็นของตัวเองได้ยากขึ้น
เพราะการเข้าร่วม CPTPP ประเทศไทยจะต้องเข้าไปเป็นภาคี อนุสัญญา UPOV1991 หรือ สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยอัตโนมัติ
จะทำให้ต่างชาติมามั่วนิ่มเอาพันธุ์พืชของไทยไปทำเป็นของตัวเองไม่ได้
จริงอยู่แม้บ้านเราจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถนำพันธุ์พืชไปปรับปรุงเป็นพันธุ์ใหม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่พืชพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง เพียงแต่ต้องแจ้งและตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับทางการไทยก่อนถึงจะขายพันธุ์พืชนั้นได้
แต่กฎหมายของเราคุ้มครองเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ...ต่างชาติแอบเอาไปต่อยอดทำในต่างประเทศ กฎหมายเราเอื้อมไม่ถึง
ที่ผ่านมาพันธุ์พืชบ้านเราเลยถูกขโมยไปหลายตัวอย่างที่เป็นข่าวนั่นแหละ
หากเข้าร่วม CPTPP ถึงกฎหมายเราจะเอื้อมไม่ถึง แต่เรายังมีอนุสัญญา UPOV1991 มาช่วยให้ต่างชาติมาลักไก่หน้าตาเฉยไม่ได้อีกต่อไป.
สะ–เล–เต