ไทยป่วย1ดับ1 แอฟริกาจ่อคิว ถูกโควิดถล่ม!

ไทยกลับมาลุ้นกันรายวัน เมื่อยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 1 ราย เป็น นศ.กลับจากต่างประเทศ ดีที่อยู่ในสถานกักตัว ขณะที่ผู้ป่วยตายเพิ่มอีก 1 รวมยอดผู้เสียชีวิต 58 ราย ศบค.ชี้ทั่วโลกยังไม่น่าวางใจ หลังฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในที่ชุมชน ส่วนญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อร่วมร้อยรายใน 9 วัน หนำซ้ำมีถึง 34 ราย หาที่มาของเชื้อไม่ได้ เตือนคนไทยห้ามการ์ดตก ด้านหมอเด็กชี้แม้มีผลงานวิจัยเด็กป่วยโควิด-19 จะแพร่เชื้อน้อยกว่า แต่องค์การอนามัยโลกเตือนให้เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนในเด็กป่วย น่าห่วงทวีปแอฟริกาจ่อเป็นศูนย์กลางระบาดของโรคแทน หลังผู้ติดเชื้อทะลุกว่า 1.5 แสนราย

สถานการณ์การพบผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในไทยยังคงที่ แม้ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีกราย ขณะที่ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง แต่ก็ยังเดินหน้าคลายมาตรการคุมเข้ม

...

นศ.จากซาอุฯ ติดเชื้ออีก 1 ราย

ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 2 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เป็น นศ.ชาย อายุ 32 ปี เดินทางกลับมาจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งพบในสถานกักตัวของรัฐ โดยกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ เริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 30 พ.ค. มีไข้ 37.5 องศา มีน้ำมูก วันที่ 31 พ.ค. ตรวจอีกครั้ง พบเชื้อเป็นโควิด-19 ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สงขลา ทำให้มีผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากซาอุดีอาระเบียผ่านทางด่านปาดังเบซาร์ 8 ราย จาก 39 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 3,083 ราย หายป่วยสะสม 2,966

ผู้ป่วยโควิด–19 ตายเพิ่ม 1

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีผู้ป่วย โควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 80 ปี มีโรคประจำตัวหอบหืด เข้าผ่าตัดสะโพกที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก วันที่ 28 เม.ย. ไม่มีอาการที่จำเป็นต้องตรวจโควิด-19 ต่อมาวันที่ 1-2 พ.ค.เข้าพักฟื้นที่หอพักผู้ป่วยพิเศษ และได้ไปสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีผลยืนยัน แต่พอยืนยันแล้วว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ก็นำคนดังกล่าวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น ซึ่งจากการสอบสวนโรคผู้เสียชีวิตยังได้สัมผัสกับลูกสาวและลูกเขย ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ด้วย อย่างไรก็ตาม วันที่ 9 พ.ค. ชายคนดังกล่าวมีระดับออกซิเจนลดลง จึงนำเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โดยรับพลาสมาเป็นระยะๆ จนวันที่ 25 พ.ค. ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตลงในวันที่ 1 มิ.ย. ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

จีนทดลองวัคซีนเกือบสมบูรณ์

โฆษก ศบค.ยังกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกว่า มีผู้ติดเชื้อ 6,366,197 ราย เสียชีวิต 377,437 ราย ส่วนข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจ นักวิทยาศาสตร์จีนเปิดเผยว่า วัคซีนที่ทำการทดลองอยู่ขณะนี้มีประสิทธิภาพสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ โดยได้ทำการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ระยะที่ 2 กับอาสาสมัคร 1,000 คน ก่อนจะทดลองวัคซีนในระยะที่ 3 ต่อไป ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการทดลองทั้งหมดในสหราชอาณาจักร และตอนนี้กำลังก่อสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์ในกรุงปักกิ่ง เพื่อรองรับการผลิตและกระจายวัคซีน 1 ร้อยล้านโดสไปสู่ประชาชน จะนำไปรักษาประชาชนในประเทศก่อนที่จะส่งออกนอกประเทศ

จับตาญี่ปุ่นเจอติดเชื้อไม่รู้ที่มา

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ขณะนี้ที่ฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในที่ชุมชน ซึ่งถือเป็นการติดเชื้อครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ส่วนที่คิตะคิวชู ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง 9 วัน รวม 97 ราย มี 34 ราย ที่ไม่สามารถสืบที่มาได้จนต้องออกมาตรการหลีกเลี่ยง 3 ซี คือ สถานปิด การแออัด และการพูดคุยระยะใกล้ชิด นอกจากนี้ ในวันที่ 2 มิ.ย. มีคนไทยเดินทางกลับประเทศ 3 เที่ยวบิน 450 คน และวันที่ 3 มิ.ย.อีก 3 เที่ยวบิน 427 คน

...

เตือนประชาชนอย่าการ์ดตก

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคออกรายงาน เพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 50 ราย โดยร้อยละ 92 หรือ 46 ราย เป็นผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศและเข้ากักตัวอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (state Quarantine) ส่วนที่เหลืออีก 4 ราย ติดเชื้อในประเทศ แยกเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด 1 ราย ไปในที่ชุมชน 3 ราย อย่างไรก็ตาม การพบผู้ติดเชื้อน้อย หรือไม่พบเลยในบางพื้นที่ ไม่ได้สรุปว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อปะปนอยู่ในพื้นที่นั้นๆผนวกกับขณะนี้รัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการ หลายคนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ออกทำงานนอกบ้าน อาจทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อได้ ขอให้ทุกคนคงเข้มการป้องกันตัวสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ให้เว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่น 1-2 เมตร ไม่นำมือมาสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก ขณะนี้มีหลายคนสวมเฟซชิลด์โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิด-19 แล้ว หากติดเชื้อหรือป่วยจะแพร่เชื้อให้ผู้ที่อยู่รอบข้างได้ ดังนั้น วิธีสวมเฟซชิลด์ที่ถูกต้องที่ป้องกันการติดเชื้อได้ต้องสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าร่วมด้วย และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่แออัดเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ

เด็กป่วยโควิด–19 ไม่รุนแรง

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีความเชื่อมโยงกับโรคคาวาซากิ และกลุ่มอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันจากการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem inflammatory syndrome in children : MIC-C) ในเด็กว่า โรคโควิด-19 ในเด็กจะมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 1-5 แล้วแต่ประเทศ และความรุนแรงในเด็กที่ป่วยและการพบในไทยมีน้อยมาก แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสถานการณ์โรคที่คาบเกี่ยวกัน คือโรคคาวาซากิ และอีกโรคคือ MIS-C หรือโรคที่มีอวัยวะหลายอวัยวะอักเสบเฉียบพลันพร้อมกัน

...

วิจัยเด็กป่วยแพร่เชื้อน้อย

จากนั้น พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคโควิด-19 เริ่มแรกคิดว่าโชคดีที่ไม่รุนแรงและเด็กได้รับผลกระทบน้อย เพราะมีงานวิจัยของเกาหลีใต้ ไอซ์แลนด์ และหลายประเทศที่มีการตรวจอย่างกว้างขวาง หรือในบางเมืองของอิตาลี ก็แทบไม่มีเด็กติดเชื้อเลย และเด็กมีความเสี่ยงติดเชื้อจากคนในครอบครัวน้อยมาก โดยมีรายงานในประเทศฝรั่งเศสพบเด็กติดเชื้อไปโรงเรียน 1 คน อยู่กับเด็กอีก 170 คน แต่ก็แทบจะไม่มีคนติดเชื้อเลย ดังนั้นความน่ากังวลว่าเด็กจะแพร่เชื้อกันในช่วงเปิดเทอมก็ลดลง

เจอภาวะแทรกซ้อนในเด็กป่วย

พญ.วารุณีกล่าวต่อว่า แต่ต่อมาเริ่มมีเด็กโดยเฉพาะเด็กในยุโรป ป่วยด้วยอาการอักเสบหลายอวัยวะในร่างกาย (MIC-C) ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์พบว่าบางรายมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บางรายตรวจพบว่ามีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แต่บางรายก็ไม่มีการติดเชื้อหรือภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ โดยเด็กที่ป่วยเป็นโรค MIS-C จะมาด้วยอาการของระบบทางเดินอาหารได้บ่อยกว่า อาจมาด้วยไข้ท้องเสีย โดยจะมีภาวะช็อกจากหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติชั่วคราว ทั้งยังตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งหากเป็นโรคคาวาซากิจะเกล็ดเลือดสูง และอาจพบอาการทางสมองร่วมด้วย

เตือนหมอเด็กทั่วโลกเฝ้าระวัง

พญ.วารุณีกล่าวอีกว่า ขณะนี้แม้ยังไม่มีข้อมูลมากพอ จึงไม่สามารถสรุปความเชื่อมโยงได้ชัดเจน แต่ทำให้องค์การอนามัยโลก ขอให้กุมารแพทย์ทั่วโลกเฝ้าระวัง ในเด็กอายุ 0-19 ปี ที่มีไข้ 3 วันขึ้นไป มีอาการร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 5 ข้อ คือ 1.มีการอักเสบที่รุนแรงทั่วร่างกายบริเวณผิวหนังและเยื่อบุ 2.มีภาวะช็อกหรือความดันต่ำ 3.การทำงานของหัวใจผิดปกติ 4.การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และ 5.มีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ร่วมกับมีค่าการอักเสบใน เลือดสูงกว่าปกติ ไม่พบหลักฐานว่าอาการที่เกิดขึ้นอธิบายได้จากสาเหตุอื่น และมีหลักฐานของการติดเชื้อหรือสัมผัสโควิด-19 ส่วนความเสี่ยงของโรคกับเด็กไทยนั้นมีความเสี่ยงน้อยและทั่วโลกโชคดีที่อัตราการป่วยน้อยกว่าในเด็กน้อยกว่าร้อยละ 1 และอัตราการเสียชีวิตแทบจะไม่มีเพราะที่มีเสียชีวิตก็มีความสัมพันธ์กับโรคอื่น ทั้งนี้ การที่เด็กไม่แสดงอาการส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากภูมิคุ้มกัน เพราะภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงมากช่วง 6 ปี ทำให้เด็กอาจจะตอบสนองและควบคุมเชื้อได้ดีกว่าผู้ใหญ่

...

เบตงตั้งด่านตรวจคุมเข้ม

ส่วนมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในต่างจังหวัด ที่ด่านตรวจคัดกรองโควิด-19 กม.23 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเส้นทางเข้าตัวเมืองเบตง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และ อสม. ยังคงตั้งด่านตรวจคัดกรองประชาชนที่เดินทางข้ามจังหวัดด้วยรถยนต์ รถ จยย.อย่างเข้มข้น ภายหลังมีการผ่อนปรนกิจกรรมเฟสที่ 3 เพื่อเป็นการป้องกันการนำเชื้อจากภายนอกเข้ามาแพร่กระจายในพื้นที่ และอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคใน ระลอก 2 เนื่องจาก อ.เบตง ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง เปิดเผยว่า ขอความร่วมมือประชาชน สวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทางจึงจะอนุญาตให้ผ่านได้ และปฏิบัติตน ตามมาตรการป้องกันดูแลสุขภาพตนเอง พร้อมปรับตัวใช้ชีวิตวิถีใหม่แบบนิวนอร์มอล ด้วยการรักษาสุขอนามัย และรักษาระยะห่างทางสังคม หากไม่จำเป็นไม่ควรออกจากบ้าน หรือเคลื่อนย้ายไปยังต่างจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดได้อีกทางหนึ่งด้วย

450 คนไทยกลับจากต่างแดน

ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดวันที่ 2 มิ.ย. กลุ่มคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดในประเทศต่างๆ ยังคงเดินทางกลับประเทศไทย อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 06.01 น. กลุ่มคนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จำนวน 290 คน พร้อมด้วยนักการทูตชาวยูเออี 1 คน เดินทางมาด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG518 จากนั้น เวลา 15.30 น. สายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ NH847 จากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำคนไทยจำนวน 110 คน กลับสู่ประเทศไทย ในจำนวนนี้ตรวจพบมีไข้ 7 คน และเวลา 21.45 น.แรงงานไทยในเกาหลีใต้ จำนวน 50 คน เดินทางด้วยสายการบินโคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ KE 651 มาถึง ซึ่งทั้งหมดได้กระจายเข้ากักตัวในสถานที่กักตัวของรัฐทั้งใน กทม.และ จ.ชลบุรี

ยอดติดเชื้อทั่วโลกยังพุ่ง

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 2 มิ.ย.ว่า ยอดผู้ติดเชื้อรวมพุ่งไปเกือบถึง 6.4 ล้านราย เสียชีวิตเกือบ 3.8 แสนราย รักษาหายแล้วเกือบ 2 ล้านราย โดยสหรัฐเมริกายังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุด เกือบ 1.9 ล้านรายและเกือบ 1.07 แสนรายตามลำดับ โดยในช่วง 24 ชั่วโมง สหรัฐฯมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 743 ราย ส่วนประเทศที่มีผู้ติดเชื้ออันดับ 2 และ 3 คือบราซิล ติดเชื้อเกือบ 5.3 แสนราย เสียชีวิตกว่า 30,000 ราย และรัสเซีย ติดเชื้อเพิ่มอีกถึง 8,863 ราย รวมเป็นกว่า 4.23 แสนราย เสียชีวิตกว่า 5,000 ราย

อังกฤษตายใกล้ 5 หมื่นราย

ที่อังกฤษพบผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 5 ของโลกที่ 276,332 ราย พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 111 ราย ทำให้ยอดสะสมเกือบถึง 50,000 ราย แต่ถึงกระนั้น หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี ทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นขั้นตอนเพื่อเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยฝรั่งเศสให้เปิดร้านอาหารและคาเฟทั่วประเทศแต่ให้เว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่สาธารณรัฐเช็กอนุญาตให้พลเมืองของตนเดินทางไปประเทศในยุโรปเกือบทั้งหมดได้โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางกลับประเทศ

ฮ่องกงคุมเข้มพบผู้ติดเชื้อ

ส่วนฮ่องกง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการควบคุมโควิด-19 กลับพบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นกลุ่ม 9 ราย ต้นตอมาจากสามีภรรยา 2 คนที่แพร่เชื้อให้เพื่อนบ้าน ทำให้หวั่นว่าจะมีการระบาดในชุมชนครั้งใหม่ รัฐบาลจึงขยายเวลาปิดพรมแดนเกือบทั้งหมดห้ามชาวต่างชาติเข้าฮ่องกงจนถึงกลาง เดือน ก.ย. ทั้งยังห้ามการชุมนุมเกิน 8 คนนาน 2 สัปดาห์ ขณะที่ เกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 38 ราย เป็น 11,541 ราย เสียชีวิต 272 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 37 รายอยู่ในกรุงโซล ซึ่งโยงใยกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ในสถานบันเทิง โบสถ์และที่ทำงาน ทำให้รัฐบาล สั่งห้ามการชุมนุมของคนหมู่มากต่อไป

อาเซียนยังลุ่มๆดอนๆ

ด้านชาติอาเซียน ที่สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 544 ราย รวมเป็น 35,836 ราย เสียชีวิต 24 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในหอพักแรงงานต่างด้าวที่แออัด จนรัฐบาลมีแผนจะสร้างที่พักอาศัยเพิ่มให้แรงงานต่างด้าว ถึงกระนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังทยอย ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 3 ขั้นและเปิดเศรษฐกิจแล้วถึงร้อยละ 75 รวมทั้งภาคการเงิน อุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกส์ ส่วนมาเลเซียพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเพียง 20 ราย รวมเป็น 7,877 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังอยู่ที่ 115 ราย อินโดนีเซีย ประเทศ มุสลิมใหญ่ที่สุดในโลก พบผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 609 รายเป็น 27,549 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 รายเป็น 1,663 ราย รัฐบาลสั่งยกเลิกการเดินทางไปแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ของชาวอินโดฯ ที่ซาอุดีอาระเบียประจำปีนี้

ละตินอเมริกาอ่วมสุด

วันเดียวกัน นายไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก เตือนว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดรวดเร็วมากในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยบราซิล เปรู ชิลี เม็กซิโก พบผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันมากที่สุด โดยบราซิลมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันเดียวถึง 11,598 ราย รวมเป็น 526,447 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 623 ราย รวมเป็นกว่า 30,000 ราย ส่วนเม็กซิโกมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,771 ราย รวมเป็น 93,435 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 237 ราย รวมเป็นกว่า 10,167 ราย ทำให้ภูมิภาคละตินอเมริกามีผู้ติดเชื้อรวมแล้วกว่า 1 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 50,000 ราย แต่ถึงกระนั้นหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง

แอฟริกาติดเชื้อทะลุ 1.5 แสนราย

ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกยังเผยอีกว่า แม้ทวีปแอฟริกา ซึ่งมี 54 ประเทศ และมีประชากรรวมกันกว่า 1,300 ล้านคนยังเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด แต่ยอดผู้ติดเชื้อรวมพุ่งทะลุ 150,000 รายแล้ว มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,300 ราย แต่ก็เตือนให้เฝ้าระวังเพราะอาจเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดในอนาคต นอกจากนี้ยังตรวจพบการแพร่ระบาดรอบใหม่ของเชื้อไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกด้วย ด้านทางการบังกลาเทศ เผยว่า มีผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮีนจาเสียชีวิตเพราะโควิด-19 รายแรกในค่ายผู้ลี้ภัยทางภาคใต้บังกลาเทศ เป็นชายวัย 71 ปี เสียชีวิตเมื่อ 31 พ.ค. ในศูนย์กักกันโรคในค่ายผู้ลี้ภัยคูตูปาลอง ค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุด มีผู้ลี้ภัยอยู่กว่า 6 แสนคนที่ชานเมืองค็อกซ์’ส์ บาซาร์ เขาเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา 29 คนที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ท่ามกลางความหวั่นกลัวว่าโควิด-19 จะแพร่ระบาดหนักในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่แออัด ขณะที่บังกลาเทศพบผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 50,000 ราย เสียชีวิต 672 ราย

ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโควิด

ด้านนายเทดรอส อดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แถลงเตือนว่า การใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นเรื่อยๆในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียต่างๆดื้อยามากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนมากขึ้นในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในอนาคตองค์การอนามัยโลกยังแนะนำไม่ให้แพทย์ใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรงและผู้ที่ไม่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนโรคโควิด-19

วิจัยยันหน้ากาก-เว้นระยะดีที่สุด

นอกจากนี้ นักวิจัยนานาชาติ นำโดยมหาวิทยาลัยแม็คมาสเตอร์ในแคนาดา ตีพิมพ์ผลงานวิจัยต่างๆ เรื่องโควิด-19 โรคซาร์สและโรคเมอร์ส รวม 172 การวิจัยใน 16 ประเทศทั่วโลก ในวารสารการแพทย์ “แลนเซต” เมื่อ 1 มิ.ย. ระบุว่า การเว้น ระยะห่างทางร่างกายอย่างน้อย 1 เมตร การสวมหน้ากาก และการปกป้องดวงตาเช่นการสวมแว่นตา เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แต่การล้างมือบ่อยๆและรักษาสุขอนามัยอื่นๆก็จำเป็นเช่นกัน นับเป็นการทบทวนผลการวิจัยเรื่องนี้ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังต้องวิจัยเพิ่มเติม