นักการศึกษา แนะ การศึกษายุคใหม่ ครูต้องกระตุ้นเด็กให้เกิดการเรียนรู้หลายด้านพร้อมกัน สร้างบรรยากาศปลุกความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน และต้องเปิดอิสระ ให้ออกแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างกันได้ ย้ำ เรื่องแก้ไขด่วน คือ ความไม่เสมอภาค-ด้อยโอกาส-ยากจน ขณะ โควิด-19 ทำเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดงานเสวนาสาธารณะหัวข้อ "Poor Students, Rich Teaching สอนเปลี่ยนชีวิต - สู้ความเหลื่อมล้ำด้วยพลังแห่งการสอน" ผ่าน เฟซบุ๊กไลฟ์ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) กสศ. กล่าวว่า จากที่ได้อ่านหนังสือ Poor Students, Rich Teaching ของ Eric Jensen สถานการณ์ของสหรัฐอเมริกาก็มีการด้อยโอกาสทางการศึกษา 52% ใกล้เคียงกับสถานการณ์ของไทย โดยส่วนหนึ่งของความด้อยโอกาสเกิดจากในห้องเรียน ซึ่งรวมถึงห้องเรียนของโรงเรียนดีๆ มีคุณภาพ
ทั้งนี้ วงการศึกษาไทยปลูกฝังกันมานาน โดยครูจะรักนักเรียนที่เรียนเก่ง และชังเด็กหลังห้อง เด็กเกเร โดยหนังสือเล่มนี้ น่าจะช่วยเปลี่ยนความคิดทางการศึกษาได้ เป็นโอกาสที่ดีของครูที่จะได้เรียนรู้วิธีช่วยเด็กเกเรหลังห้อง ซึ่งในหนังสือไม่ได้เป็นเฉพาะชุดความคิด แต่ยังรวมถึงชุดการกระทำ ทำให้เด็กเกือบทุกคนบรรลุเป้าหมาย นี่คือแรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้
...
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของนักเรียนในไทย เป็นเด็กที่ขาดแคลนการสนับสนุนเชิงอารมณ์ การยอมรับตัวเองหรือพัฒนาความภาคภูมิใจ ทำให้การเรียนก็จะเป็นเรื่องน่าเบื่อ โดยในหนังสือ Seven vectors of development ของ Arthur W. Chickering ได้มีการพูดถึง 7 ประเด็นในการพัฒนาทั้ง 1. การพัฒนาขีดความสามารถ 2. การจัดการอารมณ์ 3. พัฒนาจากการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไปสู่ความเป็นอิสระ 4. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 5. พัฒนาอัตลักษณ์ของตัวเอง 6. นำไปสู่เป้าหมายชีวิต และ 7. ความมีคุณธรรม ซึ่งการศึกษาที่จัดอยู่ทั่วไปไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ เพราะสอนเน้นไปด้านวิชาการ ส่วน 7 ด้านนี้เป็นของแถมจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องการสร้างสิ่งเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เราเห็นความหวังว่า จะสามารถพัฒนาการศึกษาได้โดยใช้หนังสือ Poor Students, Rich Teaching มาช่วยชี้ทาง ซึ่งมีแนวคิดวิธีการที่น่าจะใช้ได้ผลดี สิ่งสำคัญคือความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งมีสัญชาตญาณ มีศักยภาพ ซึ่งหัวใจสำคัญของการศึกษาคือเรื่องการเรียนรู้ ที่ผ่านมาการศึกษาในศตวรรษที่ 20 เน้นผลิตคนให้ออกมาเหมือนๆ กันเพื่อไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรม มีกฎเกณฑ์กติกาตายตัว แต่ต่อมาเรารู้ว่าเป็นวิธีที่ล้าสมัย ซึ่งการศึกษาไทยยังไปไม่ถึงการศึกษาในศตวรรษที่ 21 แต่ก็มีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ดังนั้น 7 วิธีการจากหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นหลักปฏิบัติที่สามารถโยงเข้าสู่ประเทศไทย และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ระบบการศึกษาที่ดี จะต้องไว้ใจครู ให้เกียรติครู และต้องให้การสนับสนุนครู โดยการศึกษาในศตวรรษ 21 ไม่มีหยุดนิ่ง ยังมีการพยายามทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ในช่วง 10-20 ปี OECD ระบุว่า หัวใจในการพัฒนาคนคือ “การคิดแบบสร้างสรรค์” ที่ต้องหาวิธีจัดการเรียนการสอนซึ่งไม่ยาก หลายโรงเรียนใช้วิธีการแอคทีฟเลิร์นนิ่ง และ “ไฮเพอร์ฟอร์มมิ่ง คลาสรูม” เช่น ครูจะต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้หลายด้านพร้อมกัน ทั้งวิชาความรู้ นิสัยใจคอ จิตวิญญาณ จากที่ได้คุยกับทางศาสตราจารย์จากฟินแลนด์ การเรียนรู้ที่โรงเรียนเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ถึงครึ่งของการเรียนรู้ทั้งหมด ยังมีการเรียนรู้จากพื้นที่ ชุมชน สังคม ต้องมีพื้นที่การเรียนรู้เพราะเด็กที่ฟินแลนด์เลิกเรียนบ่ายสองก็ต้องไปทำกิจกรรมเข้าชมรมที่ตัวเองสนใจ การที่เราจะมีพลเมืองคุณภาพสูง เราจะต้องจัดพื้นที่การเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เน้นเฉพาะการเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนทางศึกษาที่ต้องแก้ไข คือ เรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษา มีเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจนพิเศษ เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งนอกจากข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ผลกระทบจากความยากจน และ COVID-19 ทำให้เด็ก 6.7 แสนคน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
อีกด้านหนึ่งยังเห็นว่า มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ข้อมูลจาก PISA 2018 ระบุว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมากอยู่ในระดับเดียวกับประเทศแถบลาตินอเมริกา ทั้ง ชิลี เปรู โคลัมเบีย ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่สูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรงบประมาณไม่เกิดการกระจายตัวที่ดีนักควรมีการสนับสนุนเพิ่มเติมให้โรงเรียนขนาดเล็กและนักเรียนยากจนพิเศษ
...
อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน สิ่งสำคัญคือ ต้องทำบรรยากาศให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน เด็กเชื่อมั่นในตัวเอง คิดในเชิงบวก ซึ่งการจะทำได้ ครูจะต้องเชื่อมั่นใจตัวเด็กก่อนว่า เด็กที่เขาสอนจะสามารถประสบความสำเร็จ พัฒนาตัวเองได้ แม้แต่จะเป็นเด็กที่มีฐานะยากจน หรือมีความไม่พร้อมในด้านต่างๆ แต่ถ้าครูมีทัศนคติที่ดี เชิงบวก ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความสำเร็จ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จากในหนังสือ และสามารถขยายผลต่อไปในทางปฏิบัติ โดยที่จะต้องให้อิสระ โรงเรียน ครู ในการดำเนินการสอนที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ไม่ใช่ยึดทำตามจากระบบของส่วนกลาง และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณภาพครู ทั้งคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนามายด์เซต และให้อิสระในการทำงานด้วย
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของการศึกษาคือเราไม่เคยมีความชัดเจนเรื่องปรัชญาการศึกษา จนเกิดความอ่อนแอในการผลิตและพัฒนาครู ที่ผ่านมานโยบายการศึกษาเป็นแบบบนลงล่าง การพัฒนาจึงต้องทำอย่างไรถึงจะให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมในห้องเรียนได้ เพราะเราไม่สร้างหลักสูตรเดียวที่ใช้ได้กับทุกคนได้ โดยกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคือ คุณครู ซึ่งมีกองหน้าบุกเบิกนวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ แต่ต้องไปดูว่าทำไมครูเหล่านี้ไม่สามารถแสดงศักยภาพ หรือความสามารถออกมาได้ ตรงนี้เป็นคำถามใหญ่ สิ่งสำคัญคือเรื่องระบบที่ต้องให้อิสระโรงเรียน ตั้งแต่การคัดเลือกครูให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของตัวเอง ไปจนถึงอิสระในเรื่องหลักสูตร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้มีมากมายในการพัฒนาการศึกษา สิ่งหนึ่งคือเรื่องการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจของครูกับนักเรียน ซึ่งจะต้องทำให้เป็นเชิงราบมากขึ้น จากเดิมที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจสูงมาก เพื่อทำให้เกิด โกรธ์ มายด์เซต ไม่ใช่ให้นักเรียนอยู่ในบรรยากาศความหวาดกลัว โดยช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราเริ่มเห็นความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการเรียนการสอน ซึ่งการจัดการศึกษาในอนาคตตัวระบบนิเวศการเรียนรู้ต้องเปลี่ยนแน่นอน โรงเรียนอาจไม่ใช่สถานศึกษาเพียงลำพัง แต่ต้องมีบ้าน ผู้ปกครอง เข้ามามีบทบาทร่วมกันกับครูมากขึ้น ซึ่งที่จะต้องมีก็คือ แพลตฟอร์มที่หลากหลายรูปแบบ พื้นที่สำหรับเด็กเปราะบางยากจนพิเศษก็ต้องแบบหนึ่ง เด็กในเมืองก็ต้องแบบหนึ่ง ทั้งหมดต้องมีความหลากหลาย ตรงกับความต้องการของผู้เรียน
น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนต้นกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณเรื่องการศึกษาไปสร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่าการไปอุดช่องว่าง จัดการความเหลื่อมล้ำ โดยการให้งบประมาณแบบรายหัวของเด็ก โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวน 1.5 หมื่นโรง มากกว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมด ทำให้แทบไม่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้เลย ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการพัฒนา แค่จัดการโครงสร้างพื้นฐานก็ยังยาก ซึ่งหากเทียบกับฟินแลนด์ ที่เริ่มพัฒนาการศึกษาหลังหยุดสงคราม ก็ไม่ได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ของไทยยังติดเรื่องของระเบียบตัวประเมินต่างๆ จำนวนมาก
ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีการบริหารจัดการได้ง่ายกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งหากทำให้การจัดสรรทรัพยากรสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กมีประสิทธิภาพ ก็จะเกิดประโยชน์ ทำให้โรงเรียนใกล้บ้านค่อยๆ มีคุณภาพ เทียบเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ ถือเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย และหากมองว่าช่วงนี้เป็นโอกาสจะสามารถทำให้เกิดการปรับเนื้อหาการเรียนการสอน มุ่งสร้างทักษะให้เด็กมากกว่าแบบเดิมๆ ที่เคยทำกันมา ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการศึกษาไทย ซึ่งเริ่มเห็นความคิดสร้างสรรค์ในหลายภาคส่วน โดยเราสามารถสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายมากขึ้น
นายศุภวัจน์ พรมตัน ครูโรงเรียนนครวิทยาคม จ.เชียงราย เจ้าของเพจ อะไรๆ ก็ครู กล่าวว่า การจัดสรรงบแบบรายหัวทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ มีจำนวนนักเรียนมากกว่าได้งบมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้เกิดความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม จากที่ได้ไปอบรมเรื่อง Learning Facilitator ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เกือบสองเดือน ทำให้เห็นวิธีการสอนแบบใหม่ สามารถกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน และทำให้บรรยากาศห้องเรียนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ตรงนี้ทางผู้บริหารต้องให้อิสระ ซึ่งโชคดีที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ได้ถูกคาดหวังสูงนัก ทำให้มีโอกาสได้ทดลองหาวิธีที่ดีๆ ชวนทำ ชวนเล่น เด็กรู้สึกว่าสนุกขึ้น บรรยากาศในห้องดีขึ้น คะแนนสอบก็ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เราเห็นเพื่อนครูในเครือข่ายที่กำลังช่วยกันออกแบบการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กได้มีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น หลายคนก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งวิธีการสอน บรรยากาศ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นบรรยากาศอย่างนี้มาก่อน แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา นี่คือกระบวนการที่เรากำลังจะร่วมกันเปลี่ยนการศึกษา นี่คือความหวังที่ชัดเจนที่สุด
...