ปีที่แล้วฝนตกน้อย แล้งแทบทั้งปี ปลายปีมีติดอากาศเย็นแทบทุกพื้นที่ จากความกดอากาศ สูงจากจีนแผ่มาปะทะกับพายุ ทำให้น้ำในแหล่งน้ำ ยิ่งระเหยมากขึ้น ส่งผลแล้งยาวมาถึงตอนนี้
แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศประเทศ ไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่หลายพื้นที่ยังแทบไม่เห็นเม็ดฝน...เกิดอะไรขึ้น???
“เป็นผลพวงจากแล้งปีที่แล้ว ที่ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 17% น้อยกว่า 256 มม. ทำให้ตั้งแต่ต้นปี ฝนยังตกน้อย แถมร้อนจัดจากภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง น้ำในเขื่อนหลักทุกเขื่อนอยู่ในภาวะวิกฤติ ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา ฝนยังตกน้อยกว่าปกติทุกเดือน น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 9% แม้จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามลมที่เปลี่ยนทิศ แต่ไม่ได้หมายความว่าฝนต้องตกทุกวันอย่างที่เข้าใจกัน เขื่อนทุกเขื่อนยังคงต้องการน้ำเติมจำนวนมาก”
...
สาเหตุที่ทำให้ฝนตกค่อนข้างน้อย แม้จะล่วงเข้าสู่ฤดูฝน ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. อธิบาย...ปกติเมื่อเข้าฤดูฝน จะมีแต่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดมาสร้างฝนทั่วประเทศ
แต่ปีนี้เจอลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดพาความชื้นเข้ามาบรรจบกันที่ภาคอีสานแทนที่ จะครอบคลุมทั้งประเทศ ช่วงนี้ฝนเลยไปตกหนักที่ภาคอีสาน... ปัญหาคือไม่ไปตกเหนือเขื่อน
แถมภาคอีสานแล้งจนดินแห้งแข็งแตกระแหงมานาน จากภัยแล้งปีที่แล้ว เมื่อได้รับฝนน้ำจะซึมลงดินหมด ดินชุ่มชื้นขึ้นเหมาะกับการเริ่มต้นทำเกษตรกรรม...แต่ภาคอีสานมีพื้นที่นอกเขตชลประทานมากถึง 94% ฉะนั้น ช่วงนี้ที่ยังมีน้ำค่อนข้างเยอะ ภาคอีสานต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี มีแหล่งน้ำชุมชน หรือแหล่งน้ำของตัวเอง เพื่อความยั่งยืนของภาคเกษตรในพื้นที่
“ภาวนาให้ฝนตกมาเท่ากับปี 2538 ที่ตกมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกัน 4% เพื่อนำน้ำมาเก็บในเขื่อน หรืออ่างในประเทศ ปีหน้าถึงจะมีน้ำพอใช้ ถึงแม้ฝนจะตกหนักเท่ากับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่จะไม่ถึงกับน้ำท่วมมาก อาจเป็นแค่น้ำหลากไม่นาน เพราะเขื่อนทุกเขื่อนยังมีน้ำน้อยมาก ฉะนั้น ขึ้นกับการบริหารจัดการว่าจะนำน้ำส่วนนี้มาเติมเขื่อนได้อย่างไร”
...
ส่วนภาพรวมจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น ดร.สุทัศน์คาดการณ์...ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5% คล้ายปี 2538...ช่วง 6 เดือนแรกฝนน้อย ฉะนั้นต้องเตรียมการรับมือภัยแล้งไปจนถึง มิ.ย. เมื่อเข้าสู่ ก.ค. จะเริ่มมีฝนหนักและจะหนักที่สุดในช่วง ส.ค.-ก.ย. อาจมีน้ำหลากไปจนถึงน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง...ส.ค.อาจเจอพายุเข้า 1-2 ลูก เหมือนปี 2538 แต่ภาคอีสานจะฝนค่อนข้างน้อย
ล่วงเข้าสู่ปลายปี สถานการณ์น่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ พ.ย.ภาคใต้จะน้ำเยอะอาจถึงขั้นท่วม ส่วนภาคอื่นต้องรอดูอีกครั้ง ช่วงนั้นจะเข้าสู่ภาวะเอลนินโญ หรือลานินญา
แต่จะมีโอกาสเป็นลานินญาได้มากกว่า ...ฉะนั้นปลายปีไทยจะอากาศค่อนข้างเย็นต้นปี 2564 ฝนจะตกเยอะ คล้ายปี 2560 อาจเจอพายุหลายลูก เพราะความกดอากาศสูงมีกำลังแรง ทำให้เกิดพายุได้ง่ายขึ้น.
กรวัฒน์ วีนิล
เปรียบเทียบราคาทุกร้าน >>> คลิกที่นี่
...