จากฤดูร้อนย่างเข้าสู่ฤดูฝน หลายพื้นที่มีฝนตกชุกต่อเนื่อง สภาวะอากาศ อุณหภูมิน้ำ และออกซิเจนในน้ำเปลี่ยนกะทันหัน
ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ และที่เกษตรกรเลี้ยงไว้อยู่ในบ่อดิน ในกระชังตามแม่น้ำ ลำคลองปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียด อ่อนแอ เสี่ยงเกิดโรคได้ง่ายและตายลงอย่างฉับพลัน
บรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีฯ เตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ลำดับแรกควรคัดเลือกลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ก่อนนำมาปล่อยลงเลี้ยงในอัตราที่เหมาะสม หรือน้อยกว่าปกติ เพื่อลดความสูญเสีย หากเกิดความผิดพลาดระหว่างการเลี้ยง เรียกว่า ปล่อยน้อย ตายน้อย ปล่อยมากตายมาก
ระหว่างการเลี้ยงควรใช้อาหารที่มีคุณภาพดี ให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม เสริมด้วยสารอาหาร หรือวิตามิน ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เช่น โปรไบโอติก วิตามินซี วิตามินรวม
หากสภาพอากาศปิด มีฝนตก ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างฉับพลัน ควรเปิดเครื่องตีน้ำ ให้สัมผัสอากาศ จะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้ วัดค่าความเป็นกรด-ด่าง (พีเอช, pH) หากมีค่าลดลง ควรโรยปูนขาวหรือปูนมาร์ล และเติมเกลือแกง เพื่อลดความเครียดของสัตว์น้ำ
ควบคุมการใช้น้ำ และรักษาปริมาณน้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะ หรือ 2 ใน 3 ส่วนของบ่อ ระหว่างเลี้ยงควรทำความสะอาดพื้นบ่อและกระชังให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ เศษอาหาร มูลของเสีย ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของปรสิต รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ
และหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมีสัตว์น้ำป่วยตาย ต้องรีบนำไปฝังหรือเผา ไม่ทิ้งไว้ในบ่อ หรือกระชังที่เลี้ยง เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจาย ทำให้เกิดการระบาดไปสู่พื้นที่อื่นๆ
และสุดท้ายเมื่อจับสัตว์น้ำขายแล้ว ควรปรับปรุงบ่อ เสริมคัน ทำผนังให้สูงกว่าจุดน้ำท่วมในทุกๆ ปี ควรมีร่องระบายน้ำ ลอกตะกอนดิน และตากบ่อทิ้งไว้ ก่อนจะปล่อยสัตว์น้ำในรอบการเลี้ยงต่อไป.