ทส.เปิดปฏิบัติการรวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน "ฟื้นฟูป่า" ทั่วประเทศ
“รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน”
เป็นโครงการสำคัญของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชน ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ตนเอง เพื่อนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในอนาคตและเป็นสมบัติให้กับครอบครัวตามนโยบายรัฐบาล
โดยมีการเตรียมกล้าไม้ไว้ จำนวน 152 ล้านกล้า ซึ่งมีทั้งไม้เศรษฐกิจและไม้พื้นถิ่น อาทิ ตะเคียนทอง สัก พะยูง ยางนา แดงประดู่ป่า มะค่าโมง อินทนิลน้ำ อินทนิลบก ราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ ทองกวาว จามจุรี นางพญาเสือโคร่ง จำปา เหลืองปรีดียาธร พะยอม ยมหิน เสลา หางนกยูงฝรั่ง กาสะลองคำ ปีบ ประดู่ม่วง ประดู่แดง เป็นต้น ปลูกทั่วประเทศ นำร่องที่ภาคเหนือ ซึ่งได้รับความเสียหายจากไฟป่าเมื่อช่วงต้นปี 2563 มีพื้นที่ป่าไม้ได้รับความเสียหายมากกว่า 17 ล้านไร่ ทั้งในป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ และ นอกเขตป่า 18.69 ล้านไร่ ทั้งนี้ ในภาคเหนือ เริ่มที่ 33,500 ไร่ในป่าสงวนแห่งชาติ แบ่งเป็น เชียงใหม่ 10,000 ไร่ ลำปาง 10,000 ไร่ ตาก 5,000 ไร่ แม่ฮ่องสอน 3,000 ไร่ แพร่ 2,000 ไร่ ลำพูน เชียงราย น่าน จังหวัดละ 1,000 ไร่ พะเยา 500 ไร่
...
ขณะนี้เริ่มนำร่อง จ.เชียงใหม่ แล้วที่ป่าดอยสุเทพที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากไฟป่า จำนวน 210 ไร่
จากนั้นจะปลูกในอีก 22 จังหวัดทั่วประเทศอีก 49,000 ไร่ รวมแล้วประมาณ 8 หมื่นไร่
ที่สำคัญการปลูกฟื้นฟูป่าครั้งนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อติดตามตรวจสอบการปลูกป่าว่าได้ผลมากน้อยเพียงใดเป็นครั้งแรกด้วย
“ได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ไปประสานกับทีโอที เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน เพื่อติดตามตรวจสอบปลูกป่าและการฟื้นฟูป่าทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการปลูกป่า ประชาชนมีความกังวลใจว่าป่าที่ปลูกไปปลูกที่ไหน พื้นที่ใด ตรวจสอบได้หรือไม่ ปลูกแล้วจะโตหรือไม่ ซึ่งประชาชนไม่สบายใจ ดังนั้น แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน จะสามารถตรวจสอบได้เลยว่าป่าที่ปลูกมีสภาพอย่างไร อยู่พื้นที่ไหนบ้าง ต้นไม้โตหรือตาย” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน” กล่าว
สำหรับการปลูกฟื้นฟูป่าของ ทส.โดยกรมป่าไม้เป็นเจ้าภาพหลักนั้น มีกระบวนการที่ตรวจสอบได้อยู่แล้ว จากคำสั่ง ทส.ที่ 15/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการปลูกป่าระดับพื้นที่เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายการปลูกฟื้นฟูป่า ซึ่งมีรอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัด เป็นประธาน และมี ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) นายอำเภอท้องที่ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เป็นกรรมการโดยเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น พื้นที่ที่จะนำมากำหนดเป็นเป้าหมายปลูกป่าต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองว่ามีความเหมาะสมในการปลูกฟื้นฟู และต้องกำหนดแผนงานเพื่อเสนอของบประมาณมาปลูกล่วงหน้า
ที่สำคัญปัจจุบัน ทส.ไม่เน้นการปลูกเองโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่จะสนับสนุนกล้าไม้ให้ประชาชนปลูกในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) และพื้นที่ ส.ป.ก.
“แผนการฟื้นฟูป่าครั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงสำคัญมาก โดย ทส.เปิดให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูผืนป่า ผ่านการประสานงานของสำนักส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการป่าชุมชน สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ทั่วประเทศ” รมว.ทส.ระบุ
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้การปลูกป่ากลายเป็นความสูญเปล่าหรือการแก้ปัญหาที่ “ปลายเหตุ” ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” คือต้องตัดวงจรการเกิดไฟป่า จึงถูกนำมาใช้เพื่อถอดบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีกปีถัดไปและต่อๆไป
“ทส.ได้สรุปบทเรียนถึงสาเหตุ ปัญหา อุปสรรคของไฟป่าที่เกิดขึ้นพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการเผาเพื่อล่าสัตว์ และเผาไร่ในป่าในพื้นที่ตัวเอง แต่ไม่สามารถควบคุมได้ จนลามเข้าสู่ป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์ ซึ่งปีนี้ ดอยสุเทพเสียหายที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่กับประชาชน และประชาชนกับประชาชน จนเกิดการเผา นอกจากนี้ ประชาชนยังรู้สึกไม่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า ขณะที่อุปกรณ์ป้องกันไฟป่าก็ไม่ทันสมัย ทั้งเฮลิคอปเตอร์ โดรน การรายงานจุดความร้อนไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การจัดการเชื้อเพลิงไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามช่วงเวลาและยังไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทส.ที่เกี่ยวข้องใหม่ โดยเฉพาะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการเผาป่าและบุกรุกทำลายป่ามาให้เป็นเครือข่ายดูแลรักษาป่าให้ได้ การฟื้นฟูป่าครั้งนี้จึงมีการดึง 802 หมู่บ้านทั่วประเทศ มาเป็นเครือข่ายในการฟื้นฟูป่าด้วย” นายวราวุธกล่าว
...
ที่สำคัญการฟื้นฟูป่าโครงการ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล ทส.ได้ให้นโยบายย้ำถึงความจำเป็นต้องร่วมกันเร่งฟื้นฟูคืนธรรมชาติ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และขอให้ขยายความร่วมมือกันแบ่งมอบพื้นที่เร่งปลูกป่าฟื้นฟูความเสียหายจากการบุกรุกและเผาป่าในทุกพื้นที่จังหวัด เพื่อคืนความสมดุลของธรรมชาติ นอกจากนี้ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือไฟป่า จะต้องดำเนินการต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ให้มีการจัดชุดพิทักษ์ป่าประจำหมู่บ้านในหมู่บ้านเสี่ยง ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ จัดหาอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย และเครื่องมือการดับไฟป่าที่เพียงพอ ที่สำคัญหัวใจการดับไฟป่าและปลูกป่าจะต้องดึงประชาชนมาเป็นแนวร่วม
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการปลูกป่าอย่างมีแบบแผน มีการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยมาช่วย และรู้ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าทำไมการเกิดไฟป่าและการปลูกป่าจึงล้มเหลวรวมทั้งเต็มไปด้วยคำครหาว่าปลูกแล้วป่าหายไปไหน
...
และสำคัญที่สุด คือการมีส่วนร่วมของประชาชนเปรียบเสมือนหัวใจหลักในการรักษาป่าที่มั่นคงและยั่งยืน มากกว่าการผูกขาดความรักป่าไว้แค่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม