การลงพื้นที่สำรวจและประเมินสถานภาพการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืช ในป่าภูวัว-ภูลังกา จ.บึงกาฬ ของนักวิจัยพันธุ์พืช สํานักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติฯ และจากหลายมหาวิทยาลัย ที่ถูกนำมาเผยแพร่ใน สํานักงานหอพรรณไม้
มีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์อีกชนิด นั่นคือ...หญ้าพันเกลียว
เป็นไม้ล้มลุกมีหัวใต้ดิน คล้ายหญ้า สูงประมาณ 1.5-2 ม. แตกกิ่งทุกส่วน มียางใส ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน เป็นรูปแถบยาว 5.5-10.5 ซม. ปลายแหลมโคนสอบเรียว ก้านใบยาว 0.6-1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก มีเพียงดอกเดียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีใบรูปหอก ยาว 7-8 มม.
ดอกรูปทรงกระบอกสีครีม มีปื้นสีน้ำตาลยาว 1–1.2 ซม. ปลายดอกด้านในมีขน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปแถบ ยาว 4–5.5 ซม. บิดเป็นเกลียว ปลายเรียวแหลม โคนกลีบเป็นติ่งขนกำมะหยี่สีม่วง เป็นที่สังเกตเด่นชัด จึงเป็นที่มาของชื่อหญ้าพันเกลียว

ขอบกลีบมีขนครุย ปลายขนเป็นตุ่มคล้ายกระบอก รูปกระบอง มีกะบังรอบเส้าเกสร มีผลเป็นฝักคู่ ยาวประมาณ 20 ซม. ผิวผลมีช่องอากาศ เมล็ดแบน มีปีก ยาวประมาณ 1.5 ซม.
พบการกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา โดยเฉพาะในทุ่งหญ้าที่ราบบนยอดภูเขาหินทราย บริเวณชายป่าดิบแล้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับความสูง 300 ม. เป็นพืชถิ่นเดียวในประเทศไทยเท่านั้น
จากการประเมินสถานภาพตามเกณฑ์ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) พบว่า หญ้าชนิดนี้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง.