สถานการณ์ภัยแล้งจากการประเมินของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มีแนวโน้มก่อความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยมากที่สุด และรุนแรงที่สุด
ปริมาณอ้อยเข้าหีบผลิตน้ำตาล อาจลดลงมากถึง 25 ล้านตัน หรือ 27% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยรวม เหลือแค่ 75 ล้านตัน หดตัว 43% จากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา
เพราะโรงงานน้ำตาลทยอยปิดหีบตั้งแต่เดือนมีนาคม เร็วกว่าปกติไป 1 เดือน หากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน โรงงานน้ำตาลอาจเผชิญภาวะสุ่มเสี่ยงขาดแคลนอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อไป
ขณะที่ สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจหากยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อภาคการเกษตรอุตสาหกรรมและการส่งออกของประเทศไทย พ.ศ.2563
ยืนยันการผลิตอ้อยจำเป็นต้องใช้พาราควอตควบคุมวัชพืชในระยะแตกกอ (ช่วง 30-170 วันหลังปลูก)
หากควบคุมวัชพืชไม่ได้ จะทำให้ผลผลิตลดลง 20-50% กระทบเกษตรกรสูญรายได้รวม 5.8 หมื่นล้านบาท ยิ่งหากฝนตกชุก วัชพืชจะเติบโตเร็วและมาก เครื่องจักรกลเข้าไปจัดการในแปลงไม่ได้ ซ้ำยังไม่มีสารเคมีเกษตรชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพใช้งานได้เหมือนพาราควอตมาทดแทนได้
ปีนี้ต้นทุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยสูงถึงไร่ละ 1,200-1,300 บาทต่อไร่ ต่างจากฤดูปกติ อยู่ที่ไร่ละ 1,110 บาท จากปัญหาภัยแล้งอยู่แล้ว หนำซ้ำรายได้จากการส่งออกยังลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
เมื่อ 3 ปัญหารวมกัน ทั้งแล้ง โควิด แบนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ผลผลิตอ้อยจะลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง คิดมูลค่าเสียหายสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และกระทบชิ่งไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 1.5 แสนล้านบาท รวมสูญเสีย 3 แสนล้านบาท
นี่ยังไม่นับรวมปัญหาหนี้สินเกษตรกร ต้นทุนการผลิต ปัญหาแรงงานเกษตรที่หายากและราคาแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ยิ่งแบนพาราควอต มิถุนายนนี้จะเห็นผลทันตา.
สะ–เล–เต