ตามที่รัฐบาลโดย กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีการเปิดภาคเรียน ในวันที่ 1 ก.ค.ศกนี้ หลังจากที่ต้องเลื่อนมาจากกำหนดเดิมเพราะผลกระทบจากการ แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ยังไม่ชัวร์ว่า จะทำการเรียนการสอนได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะหากสถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่ยุติ สถานศึกษาก็ต้องรับภาระในการบริหารจัดการต่อไปตามประกาศของทางราชการ
ในเบื้องต้นมีแถลงการณ์ออกมาจาก ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ว่าด้วย เรื่องการจัดการเรียนการสอนช่วงโควิด-19 ในกรณีที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ที่โรงเรียนหรือสถานศึกษา ที่โรงเรียนอาจให้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป
โดย การจัดรูปแบบการเรียนการสอนต้องให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ มีการเรียนรู้แบบ onsite ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยในโรงเรียนได้ ในส่วนพื้นที่ไม่ปลอดภัย ให้เรียนผ่าน on-air ของ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และการเรียนผ่าน online
การบริหารจัดการให้มีการเพิ่มเวลาพัก ลดการประเมินและกิจกรรมต่างๆที่ไม่จำเป็น เน้นเรียนเฉพาะ วิชากลุ่มสาระหลัก ให้โรงเรียนมีการเตรียมพร้อมระบบการเรียนทางไกลและระบบออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มมีการทดสอบในวันที่ 18 พ.ค.นี้เป็นต้นไป
โดย กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลในสัดส่วนร้อยละ 80 อีกร้อยละ 20 ให้โรงเรียนและครูแต่ละพื้นที่พิจารณาตามความเหมาะสม โดยมี ดิจิทัลแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ DEEP และ การเรียนการสอนแบบโต้ตอบออนไลน์ เป็นสื่อเสริม
ทั้งนี้ ขอให้ บุคลากรทางด้านการศึกษา พร้อมปรับตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญ ไม่เฉพาะครูเท่านั้น แต่นักเรียนเอง ก็จะต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอน ที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
สิ่งที่จะต้องคิดตามต่อไป คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะ นักเรียน ครูและผู้ปกครองที่ด้อยโอกาส ไม่ได้หมายความว่ามี อินเตอร์เน็ต มีโทรศัพท์มือถือ มีคอมพิวเตอร์ แล้ว จะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันได้
ทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญที่สุด
ยกตัวอย่าง การบริหารจัดการระหว่างโรงเรียนกวดวิชาและโรงเรียนเอกชน กับ โรงเรียนในสังกัดรัฐบาล ปกติก็มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่แล้ว
ยิ่งถ้ามีการนำ เทคโนโลยี มาเป็นหัวใจในการเรียน การสอนด้วยแล้ว จะเกิดความเหลื่อมล้ำ ของการเรียนการสอนและคุณภาพของนักเรียนที่แตกต่างกันมากและเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น
เกิดช่องว่างทางการศึกษาไม่ต่างจากช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน.