การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) พบว่า เกษตรกรที่นำหลักการสร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” หรือที่เรียกว่า “แก้มลิงที่มองไม่เห็น” มาประยุกต์สร้างแหล่งน้ำ ในไร่นาสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้

โดย นายทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ม.14 ต.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้นำองค์ความรู้ข่าวสารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น...โดยการสังเกตบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้ ในช่วงฤดูแล้งเมื่อสูบน้ำไปได้ระยะหนึ่งน้ำจะแห้ง ไม่สามารถสูบได้อีก และช่วงฤดูฝนน้ำที่ท่วมขังบริเวณบ่อจะแห้งเร็วกว่าบริเวณอื่นๆ

จึงได้ทดลองขุดบ่อเพิ่มอีกหนึ่งบ่อเพื่อเติมน้ำลงใต้ดิน ผลปรากฏว่า สามารถเติมน้ำในบ่อได้จำนวนมาก และในขณะที่ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังบริเวณบ่อ น้ำจะไหลลงไปใต้ดินได้เร็วขึ้นทำให้พืชที่เพาะปลูกในบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

นายบุญลาภ โสวัณณะ ผอ.สศท.2 อธิบายถึงหลักการทำธนาคาร น้ำใต้ดิน สามารถทำได้ง่ายและใช้เงินทุนไม่มาก มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างแหล่งน้ำใต้ดินประมาณบ่อละ 4,000-5,000 บาท

ด้วยการขุดบ่อห่างจากบ่อเก่าสำหรับสูบน้ำขึ้นมาใช้ประมาณ 100 ม. เพิ่มขึ้นมาอีก 1 บ่อ เลือกขุดในจุดที่เป็นทางน้ำไหลและมีน้ำท่วมขังเป็นประจำ ขุดลึกประมาณ 1-3 ม. ให้ทะลุชั้นดินเหนียว จากนั้นใส่ท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ไว้ตรงกลางบ่อให้พ้นจากพื้นดินเพื่อเป็นท่อระบายอากาศ จากนั้นนำเศษวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในชุมชนใส่ลงไปในบ่อ เช่น กรวด หิน ขวดน้ำ ยางรถยนต์ ฯลฯ บริเวณขอบบ่อใกล้ผิวดินเจาะรูโดยรอบเพื่อให้น้ำไหลลงบ่อได้

...

ส่งผลให้การขุดบ่อ 2 จุด มีน้ำเพียงพอใช้กับฟาร์มบนเนื้อที่ 16.75 ไร่ สำหรับการปลูกข้าวพันธุ์หอมปทุมและพันธุ์ไรซ์เบอร์รี 4 ไร่ ไม้ผล 5 ไร่ พืชผักสมุนไพร 6 ไร่ ไม้สัก 0.5 ไร่ และสระน้ำเพื่อการเกษตร 1.25 ไร่ สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี

เกษตรกรสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-6206-3680.


สะ-เล-เต