สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจ และผู้เสียหายเข้ามาขอความช่วยเหลือจากผม ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ถูกคนรู้จักชักชวนให้ร่วมกันสั่งซื้อหน้ากากอนามัย เป็นเงินเกือบ 100,000 บาท พอถึงกำหนดเวลาส่งหน้ากากอนามัย กลับไม่มีสินค้ามาส่ง ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้เสียหายขอยกเลิกการซื้อขายพร้อมกับขอเงินทั้งหมดคืน แต่ผู้ขายก็ไม่สามารถที่จะคืนเงินได้ตามกำหนด ผู้เสียหายจึงขอคำแนะนำด้านกฎหมายจากเพจทนายเจมส์

ก่อนอื่นอยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า การกระทำความผิดอาญาในข้อหาฉ้อโกง กับการผิดสัญญาทางแพ่ง มีข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกันมาก ตัดกันที่ การกระทำความผิดอาญาในข้อหาฉ้อโกงนั้น ผู้กระทำความผิดมี "เจตนา" หลอกลวงผู้เสียหายหรือปกปิดข้อมูลสำคัญมาตั้งแต่ต้น และการหลอกลวงหรือปกปิดข้อมูลนั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย

หากเป็นเพียงการตกลงทำสัญญาซื้อขายสินค้า แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การบริหารเงินที่ผิดพลาดของผู้ขาย หรือนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์แล้วหมุนไม่ทัน หรือเกิดจากการที่ผู้ขายถูกผู้รับจ้างทำของผิดสัญญามาอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น กรณีนี้ถือว่าเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่มีความผิดทางอาญาครับ

เมื่อผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนพร้อมค่าเสียหายได้ ถ้าผู้ขายยังคงเพิกเฉย ผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิทางศาลฟ้องคดีแพ่ง เพื่อขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายต่างๆ

เคสนี้ ผมจึงขอให้ผู้เสียหายพิสูจน์ข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อนที่จะแจ้งความครับ ว่า ผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น หรือเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนในเรื่องที่ผู้ขายกล่าวอ้างมานั้น มีอยู่จริงหรือไม่ และป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายถูกฟ้องกลับ โดยให้ผู้เสียหายขอเอกสารจากผู้ขาย ดังนี้

...

1. ขอหลักฐานการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย (p/o) /ใบเสนอราคา/ใบวางบิล/ใบกำกับภาษี หรือสัญญาจ้างผลิตหน้ากากอนามัย ระหว่างผู้ขายกับโรงงานผลิต

2. ขอหลักฐานการโอนเงินค่ามัดจำ หรือค่าซื้อหน้ากากอนามัย หรือ ค่าจ้างผลิต ระหว่างผู้ขายกับโรงงานผลิต

3. ขอหลักฐานการสนทนาผ่านทุกช่องทาง ระหว่างผู้ขายกับโรงงานผลิต เช่น LINE ข้อความมือถือ Messenger อีเมล เป็นต้น

ปรากฏว่า เมื่อผู้เสียหายขอเอกสารดังกล่าวไปยังผู้ขาย ผู้ขายกลับไม่มีหลักฐานมายืนยันได้ คงมีเพียงหลักฐานเพียงใบสั่งซื้อที่ผู้ขายจัดทำขึ้นมาเองครับ ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะจะจัดทำขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเข้าข่ายความผิดข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้เสียหายจึงนำข้อความสนทนาผ่านแอปพลิเคชัน LINE ทั้งหมด ใบสั่งซื้อของผู้ขาย และหลักฐานการโอนเงิน ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุ พร้อมกับขอให้พนักงานสอบสวนออกหนังสืออายัดเงินในบัญชีของผู้ขาย เพื่อป้องกันไม่ให้เบิกถอนออกจากบัญชี หรือนำบัญชีธนาคารไปใช้หลอกผู้อื่นได้

สุดท้าย เมื่อผู้เสียหายส่งหลักฐานการแจ้งความร้องทุกข์ไปให้ผู้ขาย ผู้ขายจึงยินยอมหาเงินมาทยอยคืนให้แก่ผู้เสียหาย โดยตกลงกันว่าหากได้เงินครบแล้ว จะไปดำเนินการถอนคำร้องทุกข์ให้ ซึ่งก็ถือว่าจบกันได้อย่างสวยงาม ฝ่ายหนึ่งได้เงินคืน อีกฝ่ายก็ไม่เสียเวลา ไม่เสียอนาคต ไม่เสียประวัติ หรือเงินจ้างทนายความครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

Instagram: james.lk