มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แนะ ปฏิบัติตาม 3 ข้อ เป็นของขวัญอันล้ำค่า วันครอบครัว ที่ไม่ต้องเสียเงินทองซื้อหา ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รับรองที่บ้าน ไร้ความรุนแรง จะมีแต่ความสุข ความเข้าใจกัน
เทศกาลสงกรานต์ทุกปี เราจะเห็นผู้คนเดินทางกลับบ้านเกิด เพราะมีวันหยุด กลับไปเยี่ยมครอบครัว เยี่ยมญาติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญู จึงถือกันว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว แต่สงกรานต์ปีนี้ เกิดภาวการณ์ไวรัสโควิค-19 รัฐบาลมีมาตรการ Social Distancing รวมถึงได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งปิดสถานที่เสี่ยง ให้ประชาชน เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุอยู่บ้าน
มาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยลดการระบาดของโรค แต่ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงในบ้านได้ โดย อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผย สถิติความรุนแรงในครอบครัว ช่วงไวรัสโควิค-19 เพิ่มขึ้น มีผู้โทรศัพท์เข้ามาสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เดือน มี.ค. 63 มีทั้งสิ้น 154 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 63 ที่มีจำนวน 144 ราย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ ปัญหาจากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้รวบรวม พบกรณีข่าวสามี อายุ 53 ปี ชวนเพื่อนมานั่งสังสรรค์ดื่มเหล้า บริเวณหน้าบ้าน ตั้งแต่เย็นกระทั่งดึก ภรรยา อายุ 39 ปี ด้วยความเป็นห่วงเพราะรู้สึกว่า ช่วงนี้เกิดโรคระบาดรุนแรง จึงเดินออกไปเรียกเข้าบ้าน เกิดการทะเลาะกันและลงไม้ลงมือทำร้ายกัน จนสามีเสียชีวิต หรือกรณีข่าวสามี อายุ 66 ปี อยู่กินกับภรรยา อายุ 62 ปี มาหลายสิบปี มีการทะเลาะเบาะแว้งกันมาโดยตลอด โดยล่าสุด มีการทะเลาะกันประเด็นห้ามสามีออกจากบ้าน เพราะสามีไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัย หลังมีปากเสียงกันสามีขู่จะยิงตัวตาย และได้หนีไปอยู่บ้านลูกชายคาดว่า สามีมีภาวะความเครียด จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย
...
รวมถึงจากการให้คำปรึกษาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบกรณี สามีอายุ 27 ปี ภรรยา อายุ 32 ปี ทั้งสองอยู่ด้วยกันประมาณ 9 เดือน สามีมีปัญหาความหึงหวงภรรยา ดุด่า และทำร้ายร่างกายภรรยา ด้วยการตบตีถึง 9 ครั้ง เธอตัดสินใจจะเลิกกับสามี และไม่กล้ากลับไปที่ห้องพัก เพราะกลัวสามีจะทำร้าย และต้องการกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด แต่ในช่วงภาวะโรคระบาด ทำให้ไม่มีเงินมากพอ ที่จะใช้จ่ายในการเดินทาง และประกอบกับไม่มีรถโดยสาร ให้เดินทางกลับบ้านได้
หลายๆ กรณี สะท้อนให้เห็นว่า การปลูกฝังหญิงและชายที่ต่างกันนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในบ้านที่เรื้อรังและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงโรคระบาดที่ทุกคนต้องอยู่ในบ้านร่วมกัน ผู้ชายหลายคนไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ในการเข้าสังคมเพื่อนที่ต้องดื่มสังสรรค์ทั้งในบ้านและนอกบ้าน การเที่ยวกลางคืน หรือการเล่นการพนันในบ่อน ส่งผลทำให้สถิติการติดเชื้อโรคระบาดของผู้ชายมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง เช่น กลุ่มจากสนามมวย บาร์ ผับ เป็นต้น
ซึ่งจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงอาชีพแม่บ้าน ติดโรคจากบุคคลในครอบครัว ความสัมพันธ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบกับผู้หญิงทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ เมื่อถูกใช้ความรุนแรงในบ้าน ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ หลายคนไม่กล้าออกมาจากบ้าน หรือเข้ามาขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งโรงพยาบาล สถานีตำรวจ ในการดำเนินคดี เพราะความกังวลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ปัญหาการเดินทาง รวมถึงหลายคนประสบปัญหาการตกงาน ไม่มีรายได้

สถานการณ์ความรุนแรงในบ้านไม่ใช่เกิดเฉพาะในครอบครัวที่มีภาวะความเปราะบางอยู่แล้วแต่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีภาวะปกติ เพราะมีความเครียด ความกดดัน จากสภาวะเศรษฐกิจมากระตุ้น ในสถานการณ์นี้หากได้คิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและมองหาโอกาส ท่ามกลางความยากลำบากนี้ ก็จะพบว่า เรายังสามารถมอบของขวัญอันมีค่าให้แก่ครอบครัวได้ โดยไม่ต้องใช้เงินทองในการซื้อหา หรือการออกไปดิ้นรนเพื่อให้ได้มา ลองคิดถึงวิธีการเหล่านี้ดู
1. ช่วยแบ่งเบาภาระงานในบ้าน โดยยึด “การเห็นอกเห็นใจกัน” ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการลดปัญหาความรุนแรงในบ้านได้ ยิ่งช่วงนี้มีการปิดโรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็ก ครอบครัวจึงต้องนำบุตรหลานมาดูแลเองทำให้ผู้หญิงต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากงานประจำวัน เช่น ภาระงานในบ้าน ซักผ้า ถูบ้าน ทำกับข้าว งานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงงานที่ต้องทำแบบ Work from home ของขวัญชิ้นนี้หากค่อยๆ ลองทำดู จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าอย่างชัดเจน
2. หลายคนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งการสูบบุหรี่ ยาเสพติด เล่นการพนันและดื่มเหล้าเป็นประจำ โดยเฉพาะการดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในบ้าน หากใช้โอกาสนี้ในการลดละเลิกอบายมุข นอกจากดีต่อสุขภาพ ลดโอกาสและความเสี่ยงในการติดเชื้อ ต่อตัวเองและอาจนำมาสู่ลูกเมียแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้
3. การใช้ภาษาพูดและภาษากายที่แสดงออกถึงความรัก ความมีสติ การให้กำลังใจกันและกัน รู้จักขอโทษ ขออภัย ลดอารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิด ใช้เป็นโอกาสในการทบทวนอดีตที่ผ่านมาและปรับจูนให้เกิดความสมดุลในครอบครัว เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้
ทั้งสามข้อที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าไม่มีข้อใดเลยที่ใช้เงินทอง หรือความยากลำบากในการดิ้นรนให้ได้มา เพียงแค่เราปรับใจ ลดกำแพงที่ขวางกั้นลง เรียนรู้กันและกันให้มากขึ้นอีก นั่นคือของขวัญอันล้ำค่าที่สามารถมอบให้ครอบครัวได้ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19 และให้เชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้
...