ทำความรู้จัก "เคอร์ฟิว" คืออะไร จำเป็นแค่ไหน หลังนายกรัฐมนตรีจ่อประกาศใช้เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส "โควิด-19"
จากกระแสข่าวรายงานว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีการแถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม โดยกำหนดเคอร์ฟิวทั่วประเทศระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หลังเวลา 18.00 น. ของวันที่ 2 เม.ย.63
แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยนั้น จะมีการพูดถึงคำว่า "เคอร์ฟิว" กันบ่อยครั้งในช่วงเกิดสถานการณ์สำคัญๆ แต่หลายคนก็ยังคงสงสัยว่า "เคอร์ฟิว" คืออะไรกันแน่ และมีความสำคัญอย่างไร
สำหรับคำว่า "เคอร์ฟิว" (curfew) คือ การประกาศมาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือการห้ามมั่วสุมชุมนุมกันเพื่อการใดๆ ก็ดี ณ พื้นที่นั้นในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อลดการระบาดของเชื้อ "โควิด-19" มีผลวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา
...
แต่ล่าสุด (2 เม.ย.63) ยังพบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 104 ราย รวมสะสม 1,875 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 59 รวมหายแล้วกลับบ้าน 505 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ศพ รวมตัวเลขผู้เสียชีวิต 15 ศพ และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่ลดลงในเวลาอันใกล้
ดังนั้น การประกาศ "เคอร์ฟิว" จึงถือเป็นมาตรการกฎหมายขั้นเข้มข้น ประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากเคหสถานตามพื้นที่ที่กำหนด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก่อนจะมีการประกาศนั้น ได้มีการประเมินแล้วว่าสถานการณ์จำเป็น และกำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสถานการณ์นั้นๆ เพื่อให้พื้นที่ที่ควบคุม ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจการณ์ และดำเนินการทางยุทธวิธีได้ง่าย
มาตรการนี้ไม่เป็นอันตรายกับประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้อง แต่หากยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ก็แสดงว่ามีเจตนาที่จะฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่อาจดำเนินการได้ อาจจะบาดเจ็บหรืออาจจะเกิดอะไรขึ้นถือว่าเรียกร้องอะไรไม่ได้ เนื่องจากได้แจ้งให้ทราบแล้ว เฉพาะในพื้นที่ที่มีการประกาศเท่านั้น.