เป็นเรื่องที่น่าสนใจกับแนวคิดของ พล.ต.ท.วิเชียร ตันตะวิริยะ ผบช.สพฐ.ตร. เกี่ยวกับสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกับปัญหาอาชญากรรม จากกรณีศึกษาจากคดีชิงทรัพย์ ร้านทองออโรร่า จ.ลพบุรี สังคมได้ข้อคิด ข้อพึงปฏิบัติและข้อเสนอแนะจาก สพฐ.ตร.ว่า ปัจจุบันเป็นยุคของความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ขณะที่สังคมสลับซับซ้อน เชื่อมโยงทุกภูมิภาคของโลก การก่ออาชญากรรมมีการใช้เทคนิควิธีการสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมพื้นฐาน ปล้น ฆ่า ข่มขืนกระทำชำเรา และ อาชญากรรมพิเศษ ในลักษณะเป็นรูปแบบองค์กรอาชญากรรมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพิสูจน์พยานหลักฐานในการสืบหาการกระทำผิดที่เกิดขึ้นจริงและหาตัวผู้กระทำผิดตัวจริง
ที่อาจจะกระทำได้ยากขึ้น
โอกาสที่จำเลยจะหลุดรอดจากการเป็นผู้กระทำผิดก็มีมากขึ้นรูปแบบของพยานหลักฐานที่จะใช้ในการพิสูจน์การกระทำผิดปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจพึ่งพิงจากพยานบุคคลได้เป็นหลักเหมือนแต่ก่อน
พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยี พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ นิติเวชศาสตร์ จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เรื่องของนิติวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นเรื่องที่มารองรับหรือสอดคล้องกับหลักที่ว่า “อาชญากรรมย่อมทิ้งร่องรอย” หรือ “โจรผู้ร้ายต้องสยบต่อหลักฐานชิ้นสำคัญ” พิสูจน์ความจริงคำกล่าวนี้
พยานหลักฐานประเภทวัตถุพยานที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ เก็บรวบรวมได้จากที่เกิดเหตุจึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่งานด้านพิสูจน์หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์และทะเบียนประวัติอาชญากรจะช่วยไขปริศนาของเรื่องราวที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะเกี่ยวกับตัวของผู้กระทำผิด กรณีของคนร้ายชิงทองที่ลพบุรี เริ่มต้นที่ปลอกกระสุน หัวกระสุนปืน ร่องรอยรองเท้าคนร้ายที่ทิ้งไว้ การตรวจพิสูจน์ทางดีเอ็นเอ นำมาสู่การหาเบาะแส ร่องรอยอื่นๆ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนใช้เวลา 13 วันรู้ตัวคนร้าย รวบรวมพยาน หลักฐานขออนุมัติต่อศาลออกหมายจับผู้ต้องหาและจับผู้ต้องหาได้ พร้อมของกลางทั้งอาวุธปืนที่ใช้กระทำผิด ยานพาหนะ เครื่องแต่งกาย และทรัพย์สินที่ชิงทรัพย์ไป
...
งานพิสูจน์หลักฐานและนิติวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับพยานวัตถุเป็นส่วนใหญ่ซึ่งพยานวัตถุนั้นมีจุดเด่นคือ ความเที่ยงตรงในตัวเป็นอย่างไร มีผลอย่างไรก็เป็นไปตามที่ปรากฏ
ยากที่จะบิดเบือนเปลี่ยนผันเป็นอื่นได้ หากไม่เกิดจากการกระทำของคนต่างกับพยานบุคคลที่อาจมีข้อจำกัดในการจดจำ ถ่ายทอดเรื่องราว อาจมีเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ สอดแทรกทำให้ความจริงที่จะได้ต้องเบี่ยงเบน
หรือไม่น่าเชื่อถือไปได้.
“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th