สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับอีเมลมหาภัย ซึ่งปัจจุบันอีเมลถือเป็นเครื่องมือในการช่วยติดต่อประสานงาน รับส่งข้อมูลด้านการค้า การตลาด ยอดขาย ข้อมูลความลับ ที่รับส่งข้อมูลกันภายในองค์กร ลูกค้า คู่ค้า และอื่นๆ ทำให้อีเมลเป็นแหล่งเก็บข้อมูลสำคัญๆ หลายอย่าง

หากนายจ้างไม่มีระบบป้องกันที่ดีข้อมูลในอีเมลดังกล่าว ก็อาจจะถูกโจรกรรมข้อมูลสำคัญได้ ในส่วนลูกจ้างหากไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะถูกใส่ร้ายจากบุคคลที่สาม เพื่อความสะใจ หรือถูกใส่ร้ายจากนายจ้าง เพื่อหาข้ออ้าง ในการที่จะไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย หรือค่าเสียหายตามกฎหมาย

กรณีการเข้าใช้งานอีเมลของลูกจ้าง หลังจากสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว เป็นการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อแนะนำ สำหรับนายจ้าง กรณีที่ลูกจ้างลาออกหรือถูกไล่ออก นายจ้างควรที่จะเรียกคืนอีเมลและรหัสผ่านจากลูกจ้างทันที หรืออาจจะให้ผู้ดูแลระบบรีบดำเนินการรีเซตรหัสผ่าน ซึ่งจะทำให้อีเมล ที่เคยเข้าใช้งานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างอื่น เช่น โทรศัพท์มือถือส่วนตัวของลูกจ้าง โน้ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์พีซีส่วนตัวของลูกจ้าง ฯลฯ ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลความลับของนายจ้างรั่วไหล

...

ข้อแนะนำ สำหรับลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างลาออกหรือถูกไล่ออก ลูกจ้างควรที่จะรีบคืนอีเมลและรหัสผ่านให้นายจ้างทันที พร้อมกับทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ และแสดงความบริสุทธิ์ใจ ด้วยการให้นายจ้างตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาบุคคลที่สามเข้าไปแอบใช้อีเมล เพื่อใส่ร้ายลูกจ้าง หรือกรณีที่นายจ้าง จะหาข้ออ้างเอาผิดลูกจ้าง โดยกล่าวหาว่าลูกจ้างเข้าไปใช้งานอีเมล โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ชำระค่าจ้าง ค่าชดเชย หรือค่าเสียหายตามกฎหมาย

ทั้งนี้ หากนายจ้างหรือลูกจ้างตกอยู่สถานการณ์ที่มีบุคคลเข้าไปใช้อีเมล สิ่งที่ควรทำอันดับแรก คือ การเก็บเลขไอพีแอดเดรส ในขณะที่เข้าใช้งาน หรือส่งข้อมูลความลับ ซึ่งจะเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้ใช้งานอีเมล หรือเข้าถึงอีเมลโดยไม่ได้รับอนุญาตตัวจริง

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook : ทนายเจมส์ LK หรือ Instagram : james.lk