เมื่อไม่นานมานี้ องค์การสหประชาชาติเตือนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของประชากรโลกอันเนื่องจากการติดเชื้อดื้อต่อยารักษาโรค ที่ในปีปีหนึ่งจะมีผู้เสียชีวิตหลายแสนรายและยอดอาจเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย ภายในปี พ.ศ.2593 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นักวิจัยจำนวนมากพยายามคิดค้นหนทางรับมือกับเชื้อดื้อยาเหล่านี้ หนึ่งในนั้นก็คือการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial Intelligence-AI) มาช่วย
ล่าสุด นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์หรือเอ็มไอที ในสหรัฐอเมริกา ทดลองใช้เอไอค้นหาวิธีการระบุยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ด้วยการฝึกเครือข่ายประสาทเทียมให้คัดกรองสารเคมีกว่า 100 ล้านรายการ เพื่อตรวจหาสารที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยใช้กลไกต่างๆจากยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทีมเผยว่า ได้พบสารประกอบใหม่ชื่อฮาลิซิน (halicin) ที่ทำงานได้กับสายพันธุ์ดื้อยาอย่างเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส, คลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล, อะซีเนโตแบคเตอร์ บอมานนิไอ และเชื้อโรคอื่นๆ โดยนำไปทดสอบกับหนูทดลอง ซึ่งพบว่าฮาลิซินมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมในการฆ่าแบคทีเรียต่างๆ ไม่เพียงแต่เชื้ออี โคไลเท่านั้นเมื่อทำการทดสอบในหนู และหนูไม่ได้พัฒนาความต้านทานต่อฮาลิซินแม้จะผ่านไป 30 วัน เพราะบางครั้งการต้านทานต่อสารประกอบอื่นๆจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน
นักวิจัยเผยว่า เอไอได้ให้วิธีค้นหายาปฏิชีวนะตัวใหม่ เพิ่มความเร็วการค้นพบ และลดค่าใช้จ่ายลง แต่จะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตาม มีสารประกอบจำนวนมากที่ใช้ได้ผลในหนู แต่ใช้ไม่ได้ผลกับมนุษย์ ดังนั้น ยังต้องมีการทดลองอย่างละเอียดยิ่งขึ้นก่อนที่จะมีการทดลองทางคลินิกต่อไป.