“ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ คาดกันว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะหายไปถึง 2 ล้านคน นักท่องเที่ยวแต่ละคนมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ย 48,580 บาท นอกจากกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ยังกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจด้านการเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้กระทบมากที่สุด รองลงมาคือ ปศุสัตว์ ทำนา ประมง และปลูกพืชไร่อื่นๆ”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเกษตรไทย

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี นับเฉพาะความเสียหายจากผัก ผลไม้ ข้าว ประมง ปศุสัตว์ พืชไร่ จะมีมูลค่าประมาณ 14,190 ล้านบาท ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง อาทิ การผลิตเครื่องดื่ม การฆ่าสัตว์ โรงสีข้าว การถนอมอาหาร การผลิตอาหารสัตว์ การผลิตน้ำตาล จะได้รับผลกระทบอีกประมาณ 17,166 ล้านบาท

หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงเดือนมิถุนายน นักท่องเที่ยวจะหายไป 4.37 ล้านคน มูลค่าผลกระทบต่อภาคเกษตร จะเพิ่มขึ้นเป็น 31,004 ล้านบาท และต่อเนื่องยังภาคอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นเป็น 37,507 ล้านบาท

...

ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรไทยในภาพรวมลดลงในระยะสั้น โดยเฉพาะผักและผลไม้สด จากผลกระทบจากการขนส่งสินค้า การปิดด่านบางด่าน รวมถึงการขยายวันหยุดตามประกาศของแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาด เนื่องจากผักและผลไม้สดใช้ระบบการขนส่งทางบกเป็นส่วนใหญ่ แม้ขณะนี้จะอนุญาตให้เดินทางผ่านแดน ทั้งด่านท่าเรือ และเส้นทางการขนส่งทางบกบ้างแล้ว แต่จำนวนคนงานยังน้อยกว่าปกติ การขนย้ายสินค้าล่าช้า การเคลียร์สินค้าต้องใช้เวลามากขึ้น การขนส่ง logistic ภายในยังคงมีปัญหาอยู่

นอกจากนั้นยังได้รับผลกระทบจากการที่ร้านค้าลดการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาสต๊อก เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ รอดูสถานการณ์เพื่อวางแผนธุรกิจ และความหวาดกลัวไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภค คาดว่าสินค้าประเภทผัก ผลไม้สด จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ประมาณการว่ามูลค่าการส่งออกผัก ผลไม้สดในช่วง 3 เดือนจะลดลง 940 ล้านบาท หรือลดลง 0.33% เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562

ถ้าสถานการณ์ยืดไปถึงกลางปี จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเพิ่มเป็น 2% คิดเป็นมูลค่า 5,278 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงของทุเรียน มังคุด ซึ่งกว่า 50% ส่งออกไปยังจีน โดยเฉพาะทุเรียนสด ส่วนประเทศอื่นที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตร น่าจะไม่กระทบมากนัก เพราะสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าจีน

ทั้งนี้ปี 2560-2562 ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไปประเทศจีน กลุ่มผลไม้สดส่งออกไปมากที่สุด 77.20% ผลไม้แห้ง 9.92% ผลไม้แช่แข็ง 8.06% และผลไม้อื่นๆ 4.83%

ผลไม้สดที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ทุเรียนสด 52.88% และมังคุด 23.59%

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา เลขาธิการ สศก. แนะ...เนื่องจากคาดการณ์กันว่า สถานการณ์ระบาดมีแนวโน้มยืดเยื้อและยาวนาน ดังนั้น มาตรการรับมือ คือส่งเสริมและกระตุ้นมาตรการการส่งออกผลไม้ ทั้งสดและแปรรูป ยังตลาดใหม่แทนตลาดจีน เช่นอินเดีย ที่เป็นตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่ง ที่สำคัญคนอินเดียเริ่มเดินทางท่องเที่ยวและนิยมผลไม้ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะ ลำไย ชมพู่ มังคุด ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม และมะขาม ที่คนอินเดียนิยมมาก

...

รวมถึงกระตุ้นตลาดผลไม้เดิมของไทย ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และเบนิน เป็นต้น

โดยเฉพาะการเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ ทบทวนการกำหนดมาตรฐานลำไยส่งออก global GAP ไปยังอินโดนีเซีย รวมทั้งให้ทูตเกษตรไทยในอินโดนีเซียประสานกับกระทรวงเกษตรฯ ให้อำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมากขึ้น

และเตรียมมาตรการกระจายสินค้า กระตุ้นการบริโภคในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รองรับช่วงฤดูผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด เช่น Road show กระตุ้นการบริโภค รณรงค์เรื่อง Eat Thai first ให้กินอาหาร ผัก และผลไม้ไทย การรณรงค์ให้มีแคมเปญต่างๆ เช่น run for fruit กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การร่วมมือกับตลาดไท เพื่อติดตามสถานการณ์ ปริมาณผลไม้เข้าตลาดภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายไทยสามารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสได้ไม่ยากนัก เพราะในช่วงการระบาด ชาวจีนมีความ ต้องการบริโภคและกักตุนสินค้าในรูปแบบของแห้ง กึ่งสำเร็จรูป และสำเร็จรูป เพื่อเก็บรักษาได้นานและหลีกเลี่ยงการออกมาในที่ชุมชนโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในบางพื้นที่ ราคาสินค้าเกษตรและอาหารของจีนจึงปรับตัวสูงขึ้น ทั้งในตลาดออฟไลน์และออนไลน์

...

ดังนั้นหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จึงถือเป็นโอกาสฟื้นฟูการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังจีน โดยเฉพาะข้าว ผลไม้ และอาหารประเภทโปรตีน อาทิ ไก่ หมู กุ้ง และปลา ทั้งในรูปแบบสด แช่เย็น และแช่แข็ง ฉะนั้น น่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้แปรรูป ผู้ส่งออกไทย ควรวางแผนบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางให้ดี โดยเฉพาะในยามเมื่อค่าเงินบาทเป็นใจมีแนวโน้มอ่อนค่าลง.

กรวัฒน์ วีนิล