คนเขียนมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัท รปภ. ที่เปิดรับงานในหลายพื้นที่หลายจังหวัดบอกว่า แต่เดิมนั้นบริษัท รปภ. ใครใคร่ตั้ง-ตั้ง ใครใคร่เปิด-เปิด หมายถึงบริษัทยามหรือบริษัทรักษาความปลอดภัย มีเงินไม่กี่พันก็ขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้

ส่วนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้ปิดป้ายประกาศรับสมัครตามเสาไฟฟ้า ดักรอหน้าสถานีขนส่งหมอชิต ขนส่งสายใต้ สถานีรถไฟหัวลำโพง ได้คนมาจะเอามาอบรมซ้ายหันขวาหัน

อบรม 3 ชั่วโมงจบหลักสูตร

แล้วนำไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ.ตามบริษัทห้างร้าน คอนโดหมู่บ้าน ได้สบายๆ

บริษัทเหล่านี้เป็นเสือนอนกินมานาน “กิน 2 ทาง” ทั้งจากบริษัทห้างร้านที่ว่าจ้าง เช่น รับงานมาจากบริษัทผู้จ้างในราคา 18,000 บาทต่อหัวต่อเดือน บริษัทยามจะหักหัวคิว และจ่ายให้ รปภ.วันละ 300-400 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมาขูดรีดกินเนื้อจาก รปภ.ของตัวเอง ด้วยการหักเงินประกันทุกเดือน หักค่าชุดเครื่องแบบ หักอุปกรณ์ทุกชนิดที่เบิกไป ไม่ว่าจะไฟฉาย วิทยุสื่อสาร กระบอง อาวุธพื้นฐาน

เอาเป็นว่า 3-6 เดือนแรก เท่ากับทำงานฟรีๆ บริษัทเหล่านี้จะมีกฎระเบียบหยุมหยิมเป็นการภายใน คอยกินเล็กกินน้อยจาก รปภ.อีก โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของตนเรียกว่าสายตรวจ คอยตระเวนไปตัดเงินค่าแรงยามที่ผิดระเบียบของบริษัท เป็นระเบียบที่ตั้งมาเอง

ไม่เอื้อกับกฎหมายแรงงาน

รปภ.บางคนทนรับสภาพไม่ไหว จะลาออกก็ออกไม่ได้ เพราะไม่ได้ค่าแรงที่ค้าง หากจะออกจากงานต้องยอมทิ้งค่าแรงทั้งหมดที่บริษัท รปภ.ค้างคาอยู่ บริษัทยามรับเงินเต็มๆสบายไป เป็นธุรกิจที่ทำนาบนหลังลูกน้องจริงๆ สามารถสอบถามทางลึก โดยสุ่มสอบได้ที่ รปภ.มากมาย ที่ยืนยามอยู่ในที่ต่างๆ

...

ทราบว่ากฎหมายใหม่เกี่ยวกับ รปภ.ได้ออกมาแล้ว เมื่อ 2–3 ปีก่อนที่ว่า เพื่อเข้ามาจัดระเบียบของบริษัท รปภ.และคุณภาพของพนักงาน รปภ. คงออกมาแค่ในราชกิจจานุเบกษา

แต่ในทางปฏิบัติมีการนำมาบังคับใช้หรือไม่คือปัญหา เพราะเท่าที่ฟังเท่าที่เห็นคุณภาพของ รปภ.ยังคงเหมือนเดิม ต่างด้าวยังมีมาเป็น รปภ.ให้คนไทยเจ้าของประเทศเห็นเกลื่อนเมือง

การเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทต่อพนักงานยามยังคงมีให้เห็นอยู่เช่นเดิม

เชื่อว่าหลายๆบริษัทรักษาความปลอดภัยย่อมรู้ตัวเองดีว่ากำลังทำอะไรกันอยู่

หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทราบเลยหรือเรื่องนี้

คงไม่ต้องส่งรายชื่อบริษัทแบล็กลิสต์เหล่านี้ให้.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th