“เมืองพัทยา” ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ตั้งโครงการป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19 เน้นประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

มาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา บอกว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) หรือ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เมืองพัทยาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีประชากรแฝงกว่า 5 แสนคน จึงได้ตั้งโครงการป้องกันโรคติดต่อโดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น

เพื่อจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ตลอดจนให้ความรู้การป้องกันไวรัส ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร พร้อมทั้งจัดซื้อหน้ากากอนามัย...เจลล้างมือแจกให้แก่กลุ่มเสี่ยง เช่น ตามโรงเรียน แหล่งท่องเที่ยว สถานประกอบการ ชุมชน

สถานการณ์นี้ถือเป็นโรคระบาดต้องดำเนินการป้องกันเร่งด่วน สามารถใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นดำเนินการได้เพื่อให้ทันเหตุการณ์ โดยหากท้องถิ่นมีเงินสำรองเพียงพอก็สามารถตั้งโครงการเสนอให้คณะกรรมการกองทุนอนุมัติได้ ซึ่งในส่วนของเมืองพัทยาได้ใช้งบไปทั้งสิ้น 150,000 บาท

“เรายังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวตามชุมชน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ไปตามโรงแรม โรงเรียน เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันตัวเอง ซึ่งผู้ประกอบการที่ใกล้ชิดกับทัวร์จีนก็เข้ารับการอบรมและให้ความร่วมมือในการใส่หน้ากาก ขณะที่คนในชุมชนก็มีการปรับพฤติกรรม ไม่ค่อยออกมาบริเวณที่มีกลุ่มเสี่ยง หรือถ้าออกมาก็ป้องกันตัวตามคำแนะนำ ไม่ไปสัมผัสหรือใกล้ชิดกันมาก”

...

ราว 73% ของประชากรไทย หรือประมาณ 48 ล้านคน คือผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” ซึ่งมีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นผู้บริหาร จัดสรรงบประมาณ และกำหนดสิทธิประโยชน์ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ...

“การสร้างหลักประกันให้กับคนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น ไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย ด้วยบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ประชาชนและผู้ให้บริการมีความพึงพอใจ โดยคำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นวันครบวาระบอร์ด สปสช. สมัยวาระที่ 4 ได้สร้างผลงานสำคัญเริ่มตั้งแต่ผลักดันงบประมาณให้รัฐบาลปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จาก 1.53 แสนล้านบาทในปี 2558 เป็น 1.9 แสนล้านบาท ในปี 2563...เพิ่มขึ้นกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ที่นำมาพัฒนาเพิ่มสิทธิประโยชน์ดูแลคนไทย

ทั้งยังได้ปรับปรุง...ขยายสิทธิประโยชน์ รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณการเข้าถึงบริการก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่”, คุ้มครองการเข้าถึงบริการด้านยาที่จำเป็นสำหรับประชาชน เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาต้านวัณโรค และน้ำยาล้างไต

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์สำคัญส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย...ขยายขอบเขตการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการตรวจยีนในผู้ป่วยลมชักเพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง เพิ่มบริการยาบัญชี จ.(2)...รักษาโรคหนุ่มสาวก่อนวัย และวัคซีนรวม 5 ชนิด คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อ DTP-HB-Hib

ส่วนผลงานปีงบประมาณ 2562 ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์สำคัญ อาทิ โรคหายาก บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก 8 รายการ บริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตสำหรับกลุ่ม Allogenic กรณีผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ บริการตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ในสตรีตั้งครรภ์ จัดหายากำพร้าและยาต้านพิษที่หายากหรือขาดแคลน และสำรองคลังยาต้านพิษของประเทศไทย...

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มหน่วยบริการร่วมในระบบเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนเพิ่มขึ้น โดยให้ “ร้านขายยาแผนปัจจุบัน” ร่วมบริการคัดกรอง พฤติกรรมเสี่ยง ให้สุขศึกษา คำแนะนำสุขภาพเยี่ยมติดตามดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

รวมถึงจัดระบบสนับสนุนให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน รองรับนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล ตามนโยบาย รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี

อีกพื้นที่ตัวอย่าง “เทศบาลตำบลเชิงดอย” อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ก็ใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลจัดซื้อหน้ากาก N 95 แจกประชาชนกลุ่มเสี่ยงป้องกันฝุ่น PM 2.5 และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งเป็นการป้องกันก่อนเกิดโรคและเป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุน แนะท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ให้มากที่สุด

...

ชุติพนธ์ สารแปง นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย ย้ำว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เรายังได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนฯเพื่อจัดทำโครงการอบรมให้ความรู้แก่ อสม. เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของไวรัสและการปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5

“อยากให้ท้องถิ่นต่างๆใช้ประโยชน์จากกองทุนสุขภาพตำบลให้มากที่สุด มันขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และการตัดสินใจของผู้บริหารท้องถิ่น ถ้ามองเห็นความสำคัญของประชาชนในตำบลก็สามารถใช้งบประมาณตัวนี้ทำได้

อยู่ที่ว่าจะทำไหม ไม่ใช่กลัวไปหมด เราไม่ได้ซื้อแจกไปเรื่อยแต่รู้อยู่แล้วว่ามันมีสถานการณ์ที่สามารถป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ติดโรคได้ ดีกว่าปล่อยให้เกิดโรคแล้วค่อยมารักษาซึ่งมันแก้ปัญหายากกว่า”

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำว่า ในระดับท้องถิ่นการทำงานผ่าน “กองทุนสุขภาพตำบล” เราจะร่วมมือกับ อปท. โดยบอร์ด สปสช.ได้แก้ไขปัญหากฎระเบียบการเบิกจ่าย เพื่อให้ทุกพื้นที่นำงบประมาณเพื่อจัดโครงการส่งเสริมป้องกันโรค

...บริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการดูแลระยะยาว และยังได้ปรับปรุงการจัดสรรงบรองรับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงด้านการแพทย์ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

และ...ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ครม.ไฟเขียวยกระดับ สปสช. “องค์การมหาชนกลุ่มที่ 1 พัฒนาและดำเนินตามนโยบายสำคัญของรัฐเฉพาะด้าน” สะท้อนผลงาน 17 ปี สปสช. รุกสนองนโยบายรัฐ ขยายภารกิจพัฒนาระบบสุขภาพประเทศ นอกเหนือบริหารงบ “กองทุนบัตรทอง”

...

เนื่องจากบทบาทภารกิจ สปสช.ในปัจจุบันมีความซับซ้อน หลากหลาย และขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้นจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก รวมทั้งต้องเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ภาระงานและความรับผิดชอบมีขอบเขตกว้างขวางขึ้น

หากจะถามว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะต่อไปจะเดินหน้าต่อไปเช่นใด?

นพ.ศักดิ์ชัย มองว่า สปสช.ได้วางทิศทางดำเนินงาน จัดหาบริการให้เพียงพอ และผู้มีสิทธิได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน, เพิ่มประสิทธิผลของความครอบคลุมบริการ, ออกแบบการบริหารกองทุนเพื่อรองรับการขยายสิทธิประโยชน์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการเกิดโรค การเจ็บป่วยโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ โรคหายาก

และ...โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่ส่งผลให้ครัวเรือนล้มละลาย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าและราคาแพง, การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน และจัดการธุรกรรมการเบิกจ่าย, พัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการของประชาชน รวมถึงการจัดการและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่, เพิ่มความเสมอภาคด้านหลักประกันสุขภาพ ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานประกันสุขภาพภาครัฐต่างๆ รวมทั้งขยายการดูแลเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

...

นับรวมไปถึงแสวงหาแหล่งเงินใหม่เข้าสู่ระบบ เพิ่มความเข้าใจและร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อความยั่งยืนของระบบ...สร้าง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่มีความเข้มแข็งยั่งยืน.