Credit : Science Advances (2020). advances.sciencemag.org/content/6/7/eaay5225
การพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่านูโรมอร์ฟิก คอมพิวติ้ง (Neuromorphic Computing) นับเป็นเป้าหมายระยะยาวของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลได้พร้อมกันเหมือนกับที่สมองของมนุษย์ทำได้ ยกตัวอย่างเช่น การมองเห็น ล่าสุด นักวิจัยจากภาควิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการนี้ได้แล้ว
ทีมวิจัยแสดงให้เห็นว่าโดยการรวมวัสดุนาโนที่ไวต่อแสงเข้ากับโครงสร้างเสริมชนิดใหม่อย่างกราฟีน (graphene) สามารถสร้างอุปกรณ์ระดับนาโนที่เลียนแบบเซลล์ประสาทของสมองมนุษย์ใช้ประมวลผลและจดจำข้อมูลได้พร้อมกัน ทีมอธิบายว่ามีการวิจัยก่อนหน้านี้ได้สร้างกล้องที่จับภาพและส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้รับรู้ แต่กลุ่มของเขาได้สร้างอุปกรณ์ชิ้นเดียวที่เลียนแบบดวงตาและสมองของมนุษย์ให้ทำงานร่วมกัน อุปกรณ์นี้จะสังเกตภาพและจดจำได้ทันที เมื่อนำไปทดสอบก็พบว่าอุปกรณ์ของพวกเขาสามารถจดจำรูปคน 4 คนได้สำเร็จ
อุปกรณ์นี้ช่วยลดเวลาในการประมวลผลและพลังงานที่จำเป็นต่อการประมวลผลในอนาคต มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้กับหุ่นยนต์ให้คิดเหมือนมนุษย์ หรือใช้ช่วยเหลือเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของทหารในสนามรบ ทั้งการรับรู้ ตรวจจับและสร้างภาพใหม่ โดยสิ้นเปลืองพลังงานในระดับต่ำมาก ซึ่งเชื่อว่าอุปกรณ์นี้จะแสดงศักยภาพระยะยาวกับการทำงานภาคสนาม.