เชื้อแบคทีเรียราลสโตเนีย โซลานาซีเอรัม (Ralstonia solanacearum) จัดเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเหี่ยวกับพืชได้มากกว่า 200 ชนิด
การป้องกันกำจัดโรคนี้ทำได้ยาก เนื่องจากเชื้อตัวนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในดินเป็นเวลานาน เข้าทำลายพืชทางราก ไปตามรอยแผลที่เกิดจากการทำลายของแมลง ไส้เดือนฝอย หรือรอยฉีกขาดของราก และสามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำได้ดีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกจะมีการระบาดของโรครุนแรงและรวดเร็ว รวมทั้งสามารถติดไปกับหัวพันธุ์ อยู่ข้ามฤดูได้
ที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคนี้ได้
ล่าสุด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ประสบความสำเร็จในการศึกษานำเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส ซับทีลิส (Bacillus subtilis, BS) สายพันธุ์ BS-DOA 24 จากธรรมชาติ มาใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum อย่างได้ผล
พร้อมทั้งนำมาพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์แบคทีเรียบาซิลัส ซับทีลิส หรือบีเอส สายพันธุ์ BS–DOA 24 ชนิดผง
ช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชซ้ำในพื้นที่เดิมได้ และปัจจุบันได้มีการนำชีวภัณฑ์ไปขยายผลในการใช้ควบคุมโรคเหี่ยว ในขิง ปทุมมา กระชาย ขมิ้นชัน มันฝรั่ง พริก และมะเขือเทศ
วิธีการใช้ ด้วยการแช่หัวพันธุ์หรือเมล็ดในสารละลายชีวภัณฑ์บีเอส 50 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นผึ่งให้แห้ง ก่อนนำไปปลูก
ส่วนการนำไปใช้ในแปลงที่มีการปลูกไปแล้ว ด้วยการนำชีวภัณฑ์บีเอส 50 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วแปลงทุก 30 วัน เพื่อการป้องกันการเกิดโรคเหี่ยว
เกษตรกรสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร 0-2579-8599.
...
สะ–เล–เต