การติดตามสถานการณ์การผลิตมะเดื่อ (Fig Fruit) หรือ “มะเดื่อฝรั่ง” ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 (สศท.5) พบว่า เกษตรกรมีการปลูกมะเดื่อในลักษณะต่างคนต่างปลูก กระจายอยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่

เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดี เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโต...การปลูกนิยมใช้กิ่งพันธุ์ตอนหรือกิ่งปักชำที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์เจแปนบีทีเอ็ม 6 หรือพันธุ์เหวยไห่ โดยเกษตรกรมีต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เฉลี่ยไร่ละ 40,120 บาท เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 1 จนครบ 50 ปี จะมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวปีละ 8-12 เดือน

ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 80-120 กก. หากขายเป็นผลสุกจะได้ราคา กก.ละ 300 บาท ขายเป็นผลแห้ง กก.ละ 1,000 บาท เมื่อหักลดต้นทุนการผลิตแล้ว เกษตรกรมีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 17,080 บาทต่อปี

ด้านการตลาด กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 65 จะจำหน่ายเป็นผลและกิ่งพันธุ์ทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก ร้อยละ 25 จะนำมาแปรรูปเป็นชามะเดื่อ และไวน์มะเดื่อ โดยลูกค้านิยมสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เช่นเดียวกัน

ที่เหลืออีกร้อยละ 10 เกษตรกรจะจำหน่ายทั้งผลสุกและผลแห้งตามงานอีเวนต์ที่หน่วยงานราชการจัดขึ้น

...

จุดเด่นของผลผลิต เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เกือบทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในการบริโภคสินค้าปลอดสารเคมี (Organic Food) และผู้รักสุขภาพ นอกจากนี้ เกษตรกรยังนำผลมะเดื่อมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น ไวน์มะเดื่อ ชามะเดื่อ คุกกี้มะเดื่อ และมะเดื่ออบแห้ง

ทำให้เกษตรกรสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 ปี 7 เดือน

แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดผู้บริโภคยังเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะเดื่อในรูปกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะช่วยเพิ่มช่องทางการขายและขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น

เกษตรกรที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-4446-5120 หรืออีเมล zone5@oae.go.th


สะ-เล-เต