“มลพิษฝุ่น PM 2.5” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก นับตั้งแต่ความเสียหายทางสังคมจากการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือแม้แต่เสียชีวิตของประชากรก่อนวัยอันควร

ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเซลล์ของมนุษย์ สามารถสูดดมเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดของคนได้ ซึ่งฝุ่นละอองเหล่านี้ร่างกายจะไม่สามารถย่อยสลายหรือขับออกมาได้ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการแสบจมูก ตา คอ และ...เมื่อฝุ่นละอองสะสมในร่างกายเราเรื่อยๆอาจเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคผิวหนัง โรคหัวใจ และหลอดเลือดในระยะยาวได้

เพื่อป้องกันหรือแจ้งเตือนหากอยู่ในสถานที่เสี่ยงที่อาจมีฝุ่นในปริมาณที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จึงมีการประดิษฐ์คิดค้นผลงานที่มีชื่อว่า “มายแอร์”... เครื่องประดับตรวจวัดฝุ่นด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 แบบกระเจิงแสงขนาดเล็ก โดยเทคนิคการส่งผ่านฝุ่นด้วยไมโครปั๊มชนิดเปียโซสำหรับตรวจวัด “ค่าฝุ่น” และ “AQI” แบบฐานเวลาจริง

ผลงาน ดร.อดิสร เตือนตรานนท์, นายณัฐพล วัฒนวิสุทธิ์ และ นายถนอม โลมาศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

งานวิจัยฝีมือคนไทยชิ้นนี้เข้ากระแสประเทศไทยกับการเผชิญปัญหา “ฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5” เกินค่ามาตรฐานเรื้อรังมาราธอนเป็นอย่างดี เพื่อเตือนภัยในการป้องกันเฝ้าระวัง

“มายแอร์”...มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอรูปแบบในการพัฒนาเซ็นเซอร์เพื่อให้เกิดเซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็กที่สุดสำหรับนำมาใช้ในการออกแบบเป็นเครื่องประดับหรืออุปกรณ์ติดตัวขนาดเล็กที่ใช้ในการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ รวมไปถึงค่าดัชนีคุณภาพอากาศ และ AQI

...

เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานที่ง่าย สะดวกในการนำติดตัว อีกทั้งยังมุ่งเน้นในเรื่องของการใช้สำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้งานในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญอุปกรณ์ยังถูกออกแบบให้ทำงานผ่านบลูทูธประหยัดพลังงาน และเหมาะกับการใช้งาน สำหรับการสวมใส่ ใช้งานร่วมกับโมบายแอปพลิเคชันในการแจ้งเตือนในกรณีที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่าปกติ แอปฯจะแนะนำ “ผู้ใช้งาน” ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานไฮไลต์สำคัญในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563 (Thailand Inventors’ Day 2020) ซึ่งนำผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มาร่วมจัดแสดงกว่า 1,500 ผลงาน

กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2–6 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00–17.00 น. ณ Event Hall 102–104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ย้ำว่า เป้าหมายสำคัญนอกจากเดินหน้านำเสนอสิ่งประดิษฐ์พร้อมใช้แล้ว ยังส่งเสริมความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล...นำไปใช้ “ประโยชน์” ในมิติต่างๆอย่างเป็น “รูปธรรม”

ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 กำหนดให้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่มีผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

โดยเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก และเพื่อเป็นการเปิดเวทีระดับชาติให้องค์กร นักประดิษฐ์ นักวิจัยได้นำเสนอผลงาน ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นให้เป็นที่รู้จัก เกิดความร่วมมือ ประสานประโยชน์ระหว่างภาครัฐ...เอกชน

ภายในงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ยังได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายใต้เนื้อหา “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขเพื่อประชาชน” และนิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

นิทรรศการรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลการขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและบัญชีนวัตกรรมไทย จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยใน 6 กลุ่มเรื่อง คือ ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตรสร้างมูลค่า ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

...

ด้านนวัตกรรมสำหรับสังคมผู้สูงวัยและคุณภาพชีวิตคนไทย 4.0 และด้านนวัตกรรมสีเขียวที่น่าสนใจ อาทิ ชุดอุปกรณ์เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสุขภาพการนอนหลับ ตรวจวัดสถานะทางสุขภาพแบบเรียลไทม์ และออนไลน์ บูรณาการเทคโนโลยีเซ็นเซอร์หลายรูปแบบเข้าด้วยกัน

อุปกรณ์ตรวจวัดแบบหยด สำหรับ กลูโคส กรดยูริก และ โดพามีน พร้อมกัน...เพื่อใช้ประเมินโรคเบาหวาน โรคเกาต์ โรคพาร์กินสัน ช่วยลดเวลาในการวิเคราะห์ ทำให้สามารถช่วยลดเวลาในการตรวจวินิจฉัยโรค... ทำการรักษาได้ทันท่วงที น่าสนใจว่ามีความไววิเคราะห์สูง มีค่าความแม่นยำ 95-102%

ชุดตรวจวัดสารพิษตกค้างเพื่ออาหารปลอดภัย เนื่องจากสารเคมีที่ปนเปื้อนทางการเกษตรมีโครงสร้างที่สามารถเร่งการทำงานของเอนไซม์ได้ และอาศัยปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวตรวจวัดปริมาณของสารที่ปนเปื้อน แปลผลได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสี หรือ...การเรืองแสงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

การตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าร่วมกับสมาร์ทโฟน สำหรับตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสตับอักเสบบี, ตู้อัจฉริยะรู้กฎหมาย “Brilliant Law”, นวัตกรรมระบบเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ไอโอที เพื่อดูแลการเพาะปลูกแบบแม่นยำ, ชุดทดสอบไวรัสเด็งกีด้วยวิธีดีเอ็นเอแบบแถบ

...

เครื่องรบกวนสัญญาณ DTMF วิทยุสื่อสารแบบสะพายหลัง Manpack DTMF Jammer เพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จากเหตุแห่งการสูญเสียส่วนใหญ่มาจากการใช้ระเบิดแสวงเครื่องของผู้ก่อความไม่สงบ

แอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์บนสมาร์ทโฟนเพื่อระบุยี่ห้อปืนที่ใช้ก่อเหตุอย่างอัตโนมัติ โดยอาศัยร่องเกลียว สันเกลียวที่ปรากฏบนหัวกระสุนที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ...สามารถระบุยี่ห้อของปืนโดยอัตโนมัติ ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาเรียนรู้เอกลักษณ์ของลำกล้องปืนที่ปรากฏบนหัวกระสุนปืน

ทั้งยังมีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชนในโครงการ Thailand New Gen Inventor Award : I-New Gen Award 2020 จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศกว่า 400 ผลงาน

“วันนักประดิษฐ์” ทุกปีจึงเป็นวันที่สะท้อนมุมคิด “นักประดิษฐ์ไทย” ...ปลูกฝัง เสริมสร้างส่งเสริม เยาวชนไทยให้มีทุนทางสังคมในความเป็นนักประดิษฐ์ นักคิดค้น นักพัฒนาสร้าง “นวัตกรรม” ใหม่ๆ นำไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญ ก่อร่างสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติ.