เตือนระวัง แพร่งดเผา ถึง 30 เม.ย. อีสานแล้ง

แม่เมาะระทึกไฟไหม้ หญ้าใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูง สายไฟเสียหายไปบางส่วน ที่ จ.เชียงใหม่ เฝ้าระวังตาม แนวภูเขาทำแนวกันไฟ เสี่ยง ไฟไหม้ป่าลุกลาม จ.เลย ชาวบ้านโวยเผาไร่อ้อยควันฟุ้ง ขี้เถ้า ปลิวว่อน เร่งภาครัฐใช้กฎเหล็ก ส่วน กทม.ค่าฝุ่นจิ๋วเกิน 33 เขต ขณะที่วิกฤติภัยแล้งเกษตรกรทำนาบัวขาดน้ำต้นบัวเฉาตายขาดรายได้

หลายหน่วยงานเร่งรณรงค์งดเผา เพื่อลดค่าฝุ่นจิ๋วในอากาศ โดยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ก.พ. นายสุเทพ แสนมงคล นายอำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันไฟป่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ของประชาชน ที่ อ.แม่ออน มี 6 ตำบล 49 หมู่บ้าน มีพื้นที่ภูเขาสูง ป่าไม้หนาทึบ อยู่ในเขตติดต่อกับ อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน มีความเสี่ยงเกิดไฟป่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่พ่นละอองน้ำให้ความชุ่มชื้นให้กับอากาศทุกวัน ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ช่วยกันทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่กำหนดวันที่ 10 ม.ค.- 30 เม.ย.63 ห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด

ด้านนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผวจ.แพร่ พร้อมด้วยนายวรญาณ บุญณราช รอง ผวจ.แพร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่พบประชาชนที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ เพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้หาของป่า ขอความร่วมมือไม่เผาป่า หากเข้าป่าต้องผ่านจุดคัดกรอง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ขณะนี้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของ จ.แพร่ เริ่มดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีการลักลอบเผาป่ากันอยู่ ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูง และคุณภาพอากาศยังมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เจ้าหน้าที่มอบหน้ากากอนามัยให้เด็กนักเรียนเพื่อป้องกันสุขภาพ รณรงค์ให้หน่วยงาน อปท.ฉีดพ่นน้ำตามสถานที่และถนนวันละ 3 ครั้ง เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก สร้างความชุ่มชื้นในอากาศ

...

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จ.แพร่ กำหนดให้วันที่ 1 ก.พ.- 30 เม.ย. 2563 เป็นช่วงวิกฤติหมอกควัน ให้ทุกพื้นที่เป็นเขตควบคุมไฟป่า ห้ามเผาทุกชนิดอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที

ต่อมา นางกานต์เปรมปรีด์ และคณะเดินทางไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ รับฟังแผนปฏิบัติการดับไฟป่าโดยอากาศยาน มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ และศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ มาปฏิบัติการสยบไฟป่า กองทัพบกจำนวน 1 ลำ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจำนวน 1 ลำ บินปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ยม เขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินไม่สามารถเข้าไปดับไฟป่าได้ เพราะเป็นพื้นที่สูงชันยากต่อการเข้าถึง ต้องนำเฮลิคอปเตอร์บรรทุกน้ำจากอ่างหวยริมไปดับไฟ

ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ระดมกำลังเดินเท้าเข้าไปดับไฟไหม้หญ้าแห้งที่ ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ ตรวจสอบบางจุดมีเปลวไฟสูง 3-4 เมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมงสามารถควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัด ตรวจสอบความเสียหายพบว่า สายไฟฟ้าแรงสูงบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 4 เสียหายไปบางส่วน เจ้าหน้าที่เร่งแก้ไข ส่วนที่ ต.น้ำสวย ต.นาดินดำ อ.เมืองเลย และ ต.ผาอินทร์แปลง ต.เอราวัณ อ.เอราวัณ จ.เลย ชาวบ้านต้องทนกับควันไฟและขี้เถ้าปลิวว่อนในพื้นที่ สาเหตุมาจากเผาไร่อ้อย วอนภาครัฐเร่งแก้ไขด่วน

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือปริมาณฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 22-71 มคก./ลบ.ม. ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนมากนัก คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับคุณภาพอากาศดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สำหรับพื้นที่ที่มีผลต่อสุขภาพ ประกอบด้วย ต.นาจักร อ.เมืองแพร่ วัดค่าได้ 71 มคก./ลบ.ม. ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา วัดค่า 70 มคก./ลบ.ม. ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน วัดได้ 68 มคก./ลบ.ม. และ ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง วัดได้ 63 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ 50-72 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 32 พื้นที่ คือ 1.เขตพระโขนง 59 มคก./ลบ.ม. 2.เขตราษฎร์บูรณะ 55 มคก./ลบ.ม. 3.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 54 มคก./ลบ.ม. 4.เขตสัมพันธวงศ์ 59 มคก./ลบ.ม. 5.เขตพญาไท 54 มคก./ลบ.ม. 6.เขตปทุมวัน 58 มคก./ลบ.ม. 7.เขตบางรัก 57 มคก./ลบ.ม. 8.เขตสาทร 58 มคก./ลบ.ม. 9.เขตบางคอแหลม 67 มคก./ลบ.ม. 10.เขตยานนาวา 68 มคก./ลบ.ม. 11.เขตสวนหลวง 64 มคก./ลบ.ม. 12.เขตจตุจักร 59 มคก./ลบ.ม. 13.เขตดอนเมือง 61 มคก./ลบ.ม. 14.เขตลาดกระบัง 72 มคก./ลบ.ม.

15.เขตธนบุรี 52 มคก./ลบ.ม. 16.เขตคลองสาน 64 มคก./ลบ.ม. 17.เขตบางกอกน้อย 64 มคก./ลบ.ม. 18.เขตภาษีเจริญ 66 มคก./ลบ.ม. 19.เขตพระนคร 57 มคก./ลบ.ม. 20.เขตห้วยขวาง 51 มคก./ลบ.ม. 21.เขตคลองเตย 71 มคก./ลบ.ม. 22.เขตบางซื่อ 56 มคก./ลบ.ม. 23.เขตลาดพร้าว 51 มคก./ลบ.ม. 24.เขตหลักสี่ 61 มคก./ลบ.ม. 25.เขตบางเขน 63 มคก./ลบ.ม. 26.เขตสะพานสูง 54 มคก./ลบ.ม. 27.เขตบึงกุ่ม 69 มคก./ลบ.ม. 28.เขตคลองสามวา 60 มคก./ลบ.ม. 29.เขตจอมทอง 57 มคก./ลบ.ม. 30.เขตบางพลัด 55 มคก./ลบ.ม. 31.เขตบางแค 53 มคก./ลบ.ม. และ 32.เขตบางขุนเทียน 63 มคก./ลบ.ม.

ทั้งนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของ กทม.ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขอให้ประชาชนทั่วไปในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐาน เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกัน

...

ต่อมาเวลา 13.30 น. ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเทพฯ สรุปผลการตรวจวัด PM 2.5 เวลา 10.00-12.00 น. ตรวจวัดได้ 50-74 มคก./ลบ.ม. ค่า PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและยังคงมีค่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพจำนวน 32 เขต โดยพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเพิ่มเติมจากช่วงเช้า คือ เขตราชเทวี ตรวจวัดได้ 51 มคก./ลบ.ม. รวมทั้งหมด 33 เขต

นอกจากปัญหาฝุ่นละอองแล้ว วิกฤติภัยแล้งชาวบ้านยังเดือดร้อนในหลายพื้นที่ นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จ.นครราชสีมา ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งจำนวน 8 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ ประกอบด้วย อ.โนนสูง อ.จักราช อ.ปักธงชัย อ.เทพารักษ์ อ.โชคชัย อ.โนนไทย อ.แก้งสนามนาง และ อ.สีคิ้ว มีพื้นที่ประสบภัย 54 ตำบล 547 หมู่บ้าน รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา จ.นครราชสีมา แจ้งว่า ปีนี้ฝนอาจจะมาช้าถึงเดือน มิ.ย. ปกติฝนจะมาประมาณเดือน พ.ค. กรมชลประทานดึงน้ำจากอ่าง เก็บน้ำต่างๆเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน

นายเกียรติศักดิ์เปิดเผยอีกว่า พื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างของสำนักชลประทาน 8 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ น่าเป็นห่วงที่สุดคือ จ.บุรีรัมย์ มีอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้ มากกับอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ทั้ง 2 อ่างมีน้ำเหลือแค่ 2 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ อ.เมืองบุรีรัมย์ต้องการใช้น้ำเดือนละ 1.5 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาตั้งแต่เดือน ต.ค. สูบน้ำทุกวิถีทางที่จะดึงน้ำ พร้อมร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาค ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวายระยะทาง 20 กม. เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน

จ.ขอนแก่น นาบัวที่บ้านศิลา ต.ศิลา อ.เมือง น้ำแห้งบัวเริ่มเฉาตาย นางรัตนา น้ำคำ อายุ 41 ปี เจ้าของนาบัว เปิดเผยว่า พื้นที่นาข้างบ้านจำนวน 2 ไร่ ทำเป็นนาบัวมากว่า 10 ปี เก็บดอกบัวสัปดาห์ ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3,000 ดอก ส่งพ่อค้าในตลาดดอกละ 1 บาท มีรายได้ส่งลูกเรียนหนังสือ ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.2562 น้ำในนาบัวเริ่มแห้งจนถึงเดือน ม.ค.63 น้ำแห้ง ดินแตกระแหง นาบัวไม่มีน้ำ ดอกบัวไม่สมบูรณ์ ต้องปล่อยให้เฉาตาย และสูญเสียรายได้

...

ด้านนายมุขตาข์ มะทา นายก อบจ.ยะลา นำคณะพร้อมเครื่องจักรกล รถขุดบ่อน้ำตื้น ไปมัสยิดดุลเลาะห์มาน บ้านฮูยงบาโร๊ะ ต.กายูบอเกาะ อ.รามัน เพื่อขุดเจาะบ่อน้ำตื้นแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ นายมุขตาข์เปิดเผยว่า ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขภัยแล้ง บรรจุในแผนงานประจำปี คือการขุดบ่อน้ำตื้นในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน มัสยิด และวัด เป็นพื้นที่สาธารณะ ประชาชนสามารถบริหารจัดการใช้น้ำอย่าง ยั่งยืน สำหรับปีนี้ ดำเนินการขุดบ่อน้ำตื้นไปแล้ว จำนวน 10 บ่อ มีเป้าหมาย 150 บ่อ ครอบคลุมทั้งจังหวัด นอกจากนี้ ในช่วงหน้าแล้ง อบจ.ยังนำเครื่องจักรกล ทำการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ด้านเกษตร พร้อมทั้งแจกจ่ายน้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง