กรมชลประทานเผยภัยแล้งลามยาวถึงกลางปี ครอบคลุม 70 จังหวัดทั่วประเทศ หลังกรมอุตุฯคาดช่วง มี.ค.-มิ.ย.ไม่มีฝนตกน้ำไม่พอใช้ในการเกษตรล่าสุดที่กาฬสินธุ์ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงเดือดร้อนไปทั่ว แล้งจัดไม่มีหญ้าให้วัวกิน เจ้าของจำใจขายทิ้งยกฝูง ซ้ำเขื่อนวังยางรั่วซึมต้องให้นักประดาน้ำลงไปช่วยอุด เพื่อกักน้ำไว้ใช้ให้พ้นฤดูร้อน ขณะที่แม่น้ำยมเหือดแห้งกระทบศูนย์อนุรักษ์ปลาของวัด จ.สุโขทัย พระหวั่นปลากว่า 1 แสนตัวตายเกลี้ยง
ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (เขื่อนวังยาง) ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับนายเก่งกาจ บ้งกาวงศ์ นายกสมาคมเมตตาธรรมทิพยสถานเต๊กก่า จีโหวเกาะ นำทีมประดาน้ำเมตตาธรรมกาฬสินธุ์พร้อมอุปกรณ์การกู้ภัยทางน้ำ เรือนาคา 3 เข้าซ่อมแซมอุดรอยรั่วประตูเขื่อนระบายน้ำวังยาง หลังจากพบว่าประตูระบายน้ำรั่วซึมมีน้ำไหลออกตลอดเวลา โดยใช้วิธีนำเศษผ้าและวัสดุที่สามารถอุดรอยรั่วได้ดำลงไปอุดจุดรั่วซึมไม่ให้น้ำไหลออก เพื่อกักเก็บน้ำไว้เพียงพอต่อฤดูแล้งในช่วง 5 เดือนนี้
นายพัฒนะกล่าวว่า ช่วงนี้ได้นำเครื่องสูบไฟฟ้าขนาดใหญ่ 6 เครื่องมาติดตั้งเพื่อดึงน้ำจากเขื่อนลำปาวขึ้นมากักเก็บที่เขื่อนวังยางเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม แต่พบปัญหาบริเวณประตูระบายน้ำมีรอยรั่วซึม เนื่องจากยางเกิดชำรุดและมีเศษไม้ติดอยู่ จึงขอความร่วมมือหน่วยกู้ภัยเมตตาธรรมกาฬสินธุ์นำนักประดาน้ำมาช่วยอุดรอยรั่วไม่ให้มีน้ำรั่วซึมย้อนกลับไป เขื่อนวังยางต้องกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ขณะนี้เดินเครื่องสูบน้ำเต็มระบบ 22 ชั่วโมงต่อวัน สามารถสูบน้ำขึ้นมาเก็บประมาณ 180,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เชื่อว่าช่วงหน้าแล้งนี้จะมีน้ำเพียงพออย่างแน่นอน
...
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง จ.กาฬสินธุ์ พบว่าขยายวงกว้างหลายอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน แหล่งน้ำสาธารณะและแหล่งน้ำธรรมชาติใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและให้สัตว์เลี้ยงตามห้วยหนองคลองบึงลดลงต่อเนื่อง บางแห่งเริ่มแห้งขอด ไม่มีน้ำหลงเหลือจนพื้นดินก้นอ่างแตกระแหง ส่งผลกระทบต่อพืชผักผลไม้เริ่มเหี่ยวแห้งตาย วัวควายเริ่มขาดอาหาร นายมนูญ ขนันแข็ง อายุ 46 ปี ชาวบ้านหนองกาว ต.ตาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธ์ เปิดเผยว่า ภัยแล้งปีนี้ไม่ได้กระทบต่อชาวบ้านอย่างเดียว ยังทำให้วัวที่เลี้ยวไว้หลายตัวไม่มีหญ้ากิน เลยตัดปัญหาขายวัวทั้งฝูง เพราะหากเลี้ยงต่อวัวจะผอมโซมากกว่านี้ ขายไม่ได้ราคา

นายประมวล ลาภจิตต์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้นับว่ารุนแรงกว่าทุกปี เป็นห่วงว่าจะมีน้ำพอหน้าแล้งหรือไม่ เนื่องจากห้วยหนองคลองบึงและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่งของ จ.เลย มีน้ำน้อยกว่าปกติ ส่วนการบริหารจัดการน้ำตอนนี้ได้ปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำเลยวันละ 70,000-100,000 ลบ.ม./วันลงสู่แม่น้ำเลยมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ 4 อำเภอ คือภูหลวง วังสะพุง เมืองเลยและเชียงคาน รวมทั้งสูบน้ำเข้าสระน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเลย ส่วนอ่างน้ำห้วยน้ำหมานตอนบน อ.เมืองเลย ที่ใช้ผลิตน้ำประปาเลี้ยงเขตเทศบาลเมืองเลยและรอบนอก มีน้ำแค่ 17% หรือ 4.7 ล้านลบ.ม.เท่านั้น จะเก็บสำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน
ขณะที่แม่น้ำยมไหลผ่าน จ.สุโขทัย เหือดแห้งลงทุกวัน บางจุดแห้งขอด ล่าสุดนายสมชาติ ลิมปะพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสวรรคโลก อ.สวรรคโลก ระดมเจ้าหน้าที่กรอกกระสอบทรายประมาณ 1,000 กระสอบ เพื่อนำไปกั้นแม่น้ำยมบริเวณด้านหลังสำหนักงานเทศบาลเมืองสวรรคโลกเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งนี้ ด้านพระนิพนธ์ สุเมโธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเกาะวงเกียรติ์ ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง กล่าวว่า ขณะนี้แม่น้ำยมแห้งขอดลามมาถึงศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ปลาของวัดที่ได้อนุรักษ์พันธุ์ปลาไว้หลายสายพันธุ์รวมกว่า 1 แสนตัว ทำให้ปลาว่ายมารวมกันตรงแอ่งน้ำที่ชาวบ้านร่วมกันขุดเป็นที่อาศัยของปลา แต่เป็นห่วงว่าหากแม่น้ำยมลดลงจนแห้งจะส่งผลกระทบทำให้ปลาตายแน่นอน

ส่วนชาวบ้านหมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 5 ต.หนองกรด อ.เมืองนครสวรรค์ ช่วยกันเจาะบ่อบาดาลในอ่างเก็บน้ำบ้านเนินประดู่ หมู่ 2 เพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ทำประปาหมู่บ้าน หลังอ่างน้ำแห้งขอดมานานนับสัปดาห์แล้ว นับว่าแห้งแล้งสุดในรอบ 45 ปี ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเกือบ 300 ครัวเรือน เลยของบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยเจาะบ่อบาดาลใช้ชั่วคราว เพราะไม่สามารถหาแหล่งน้ำดิบจากที่อื่นมาเติมได้เลย แต่บ่อบาดาลก็มีน้ำออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มั่นใจว่าน้ำบาดาลจะใช้ไปได้นานแค่ไหน
...
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรม ชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำต้นทุนที่น้อย ประกอบกับฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณน้อย กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ล่าสุดช่วง มี.ค.-มิ.ย.63 ทั่วประเทศไทยจะถูกภัยแล้งปกคลุมอย่างหนักประมาณ 70 จังหวัดฝนไม่ตกน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร มีเพียง 7 จังหวัดในแถบภาคใต้ อันดามันที่มีน้ำฝนเพียงพอ อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่แห้งแล้ง ส่วนค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังกรม ชลประทานบริหารจัดการน้ำเพื่อผลักดันค่าความเค็มที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนช่วงวันที่ 13-15 ม.ค. ทำให้ค่าความเค็มยังคงทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ วันที่ 15 ม.ค.แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีประปาสำแล เวลา 08.00 น. วัดได้ 0.19 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปลัด ทส.ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อแจ้งให้ ผวจ.ทุกจังหวัดและได้แจ้ง ผอ.สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ทุกจังหวัด เรื่องการขึ้นทะเบียนใช้น้ำบาดาลของผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เนื่องด้วยปัจจุบันเกิดภาวะปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าทุกปี ทั้งนี้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลที่ได้ขึ้นทะเบียนการใช้น้ำบาดาลและนำน้ำบาดาลไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะได้รับการยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาลหรือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลที่วัดได้จากเครื่องวัดปริมาณน้ำ เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ