4-5 วันก่อน สำนักข่าว BBC ไทย พาดหัวข่าวน่าตกใจสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ว่า ปี 2563 ประเทศไทยจะแล้งรุนแรงและยาวนาน ถึงกลางปี

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเห็นการพาดหัวข่าวเช่นนี้ คนไทยประสบภาวะภัยแล้ง แล้งซ้ำซากมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้ง และทุกครั้งเราก็จะเห็นภาพการตื่นตัวของหน่วยราชการเป็นคราวๆไป

แต่ปีนี้ อาจจะไม่เหมือนปีอื่นนะครับ เพราะหน่วยงานราชการ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ตรงกันครับว่า วิกฤติภัยแล้งในปีนี้ จะรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี

และนอกจากภัยแล้งแล้ว เรายังต้องเผชิญกับภาวะฝนแล้งยาวนานไปจนถึงเดือนมิถุนายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาออกมาบอกครับว่า ปีนี้ปริมาณฝนจะต่ำกว่าปกติ 3-5% ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน สถานการณ์แม่น้ำสายหลัก ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ

เรียกว่า แล้งกันทุกหัวระแหงล่ะครับปีนี้...

หลายเดือนก่อน ผมมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยที่ จ.แพร่ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ซึ่งพูดถึงวิธีการจัดการน้ำด้วยหลัก “มังรายศาสตร์” ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนมังราย

อ.รอยล ท่านบอกว่า วิธีการจัดการน้ำในหลักมังรายศาสตร์ หลักๆคือเรื่องของการทำเหมืองฝาย ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ.1100-1200 วิชานี้เกิดจากการที่พระองค์ท่านต้องเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมครั้งแล้วครั้งเล่าในเมืองที่เข้าไปปกครอง กระทั่งมาพบว่าเมืองลำพูนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมเมือง เลยเกิดเป็นศาสตร์การจัดการน้ำฉบับพ่อขุนมังรายขึ้นมา และกลายเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของอาณาจักรหริภุญไชย

...

ศาสตร์นี้น่าสนใจมากจริงๆครับ เพราะการจัดการน้ำจะจัดการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องจัดการอย่างอื่นด้วย อย่างอื่นที่ว่านั้น เหมือนจะจัดการง่ายแต่กลับยาก ไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อในคราวหน้านะครับ...

นายอรุณ