อีกไม่กี่เดือนจะถึงฤดูทุเรียนวางตลาดกันแล้ว ในระยะทุเรียนกำลังแตกใบอ่อน พี่สุเทพ สหายา นักกีฏวิทยา อดีตผู้อำนวยการกลุ่มกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร เตือนเจ้าของสวนทุเรียนให้เฝ้าระวัง เพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน (durian psyllids) แมลงศัตรูที่สำคัญของทุเรียน ที่มักพบการระบาดทุกแหล่งปลูก
โดยเพลี้ยวัยอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนของทุเรียน สร้างความเสียหายให้กับทุเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้ใบอ่อนเป็นจุดสีเหลือง ไม่เจริญเติบโต และเล็กผิดปกติ เมื่อระบาดมากๆใบจะหงิกงอแห้งและร่วงหมด นอกจากนั้นยังทำให้ยอดอ่อนแห้งและตายได้ ส่งผลให้ใบสังเคราะห์แสงได้ไม่เต็มที่ ทำให้ผลผลิตลดลง
แถมตัวอ่อนยังจะขับสารสีขาวออกมาเป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อราดำอีกด้วย
ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เข้าไปในเนื้อเยื่อใบพืช ทำให้เห็นเป็นวงสีเหลืองหรือสีน้ำตาลตามใบเป็นกลุ่มๆ กลุ่มหนึ่งประมาณ 8-14 วง หลังจากนั้นไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อนขนาดยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และมีปุยสีขาวติดอยู่ตามลำตัว โดยเฉพาะด้านท้ายของลำตัวมีปุยสีขาวคล้ายกับหางไก่ แมลงชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า “เพลี้ยไก่แจ้” หรือ “เพลี้ยไก่ฟ้า”
การป้องกันสามารถทำได้หลายวิธี...วิธีเขตกรรม บังคับให้ทุเรียนแตกใบอ่อนพร้อมกัน เพื่อลดช่วงเวลาการเข้าทำลายของเพลี้ยไก่แจ้ และการจัดการจะได้ง่ายขึ้น
แต่วิธีนี้ค่อนข้างมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะการจะขอความร่วมมือให้ทุกสวนหลายเจ้าของบังคับทุเรียนให้แตกใบอ่อนพร้อมกัน นอกจากจะเป็นไปได้ยากแล้ว ยังจะมีปัญหาเรื่องการตลาด...ผลผลิตออกมาพร้อมกัน ล้นตลาด ถูกกดราคารับซื้อ
วิธีกล ตัดใบ หรือยอด กิ่งที่พบเพลี้ยไก่แจ้ระบาดไปทำลายนอกแปลง หรือติดกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวนมาก เพื่อให้ตัวเต็มวัยของเพลี้ยไก่แจ้ติดกับดัก จะลดการระบาดได้ นอกจากนี้ กับดักกาวเหนียวสีเหลืองยังใช้สำหรับการสำรวจหรือเฝ้าระวังแมลงที่จะเข้าทำลายพืชได้หลายชนิด ทั้งเพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น แมลงหวี่ขาว เป็นต้น
...
ส่วนวิธีการอื่นๆต้องทำยังไง มาว่ากันต่อพรุ่งนี้.
สะ-เล-เต