ปลายฝนต้นหนาว อากาศแปรปรวน มีทั้งร้อน หนาว หมอก ฝน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเฝ้าระวังการระบาดของโรคแอนแทรคโนสที่ระบาดในพืชชนิดอื่น แต่ในระยะ 3-4 ปีมานี้ได้ลามระบาดมาถึงกาแฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...โดยเฉพาะสวนกาแฟปลูกในที่โล่งแจ้งจะพบโรคนี้มากเป็นพิเศษ
มักจะระบาดในระยะต้นกาแฟเริ่มติดผลไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต
อาการที่ใบ...ทั้งใบอ่อนและใบแก่จะมีจุดสีน้ำตาล เนื้อเยื่อกลางแผลตาย จากนั้นแผลจะขยายใหญ่ ทำให้แห้งไหม้ทั้งใบ จนบางคนเรียกว่า...โรคใบไหม้สีน้ำตาล
อาการที่กิ่ง...จะพบอาการไหม้บนกิ่งเขียว ข้อและป้องของต้นมีสีเหลืองซีด ลามไปตามกิ่ง ทำให้ใบเหลืองและร่วง กิ่งเหี่ยวและแห้งทั้งกิ่ง ที่เรียกกันว่า...โรคกิ่งแห้ง
อาการที่ผล พบได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ เริ่มแรกจะมีจุดสีน้ำตาลเข้มด้านใดด้านหนึ่งของผล จากนั้นจุดจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นแผลรูปร่างไม่แน่นอน เนื้อเยื่อแผลยุบตัว กรณีพบที่ผลอ่อนจะทำให้ผลไม่พัฒนาเป็นเมล็ดและเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่ผลยังคงติดอยู่บนกิ่งต้นกาแฟ ส่วนพบที่ผลแก่จะทำให้ผลสุกแก่เร็วขึ้น มีคนเรียกกันว่า...โรคผลเน่า
ระยะนี้ต้นกาแฟกำลังติดผล เกษตรกรควรหมั่นสำรวจและป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอย่างสม่ำเสมอ เพราะมอดเจาะผลกาแฟจะทำให้ผลเกิดแผลเป็นช่องทางให้เชื้อราก่อโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลายผลได้มากขึ้น และหมั่นตรวจแปลง เก็บผล ตัดแต่งกิ่ง ใบ ดอก และส่วนที่เป็นโรค ร่วงอยู่ใต้ต้นไปทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งควรรักษาระดับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อรักษาระดับความชื้นและช่วยป้องกันการเกิดโรค
หากพบโรคเริ่มระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และควรหยุดพ่นสารเมื่อผลกาแฟเริ่มแก่จนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต
...
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟเรียบร้อย ให้ตัดแต่งกิ่ง ทรงพุ่ม ใบ และเก็บผลที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อให้โล่ง โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และแสงแดดลอดผ่านได้ จากนั้นให้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อให้ต้นกาแฟมีความแข็งแรงพร้อมต่อสู้กับเชื้อโรคที่จะตามมา.
สะ–เล–เต